"งูสวัด" ป้องกันได้อย่างไรและใครสามารถฉีดวัคซีนงูสวัดได้

พญ.พิรญาณ์ ธำรงธีระกุล แพทย์ผิวหนังประจำแอปพลิเคชันหมอดี เปิดเผยถึงความสำคัญของการป้องกันโรคงูสวัดว่าโรคงูสวัดมักเกิดขึ้นเมื่อมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ (Varicellazoster virus) ซึ่งเป็นเชื้อเดียวกับโรคอีสุกอีใสคนที่เป็นงูสวัดมักจะมีผื่นตามตัวปวดแสบปวดร้อนบริเวณที่เป็นผื่น จึงถือว่าเป็นหนึ่งในโรคที่ผู้ป่วยอาจจะได้รับความเจ็บปวดอย่างมาก1แต่ทั้งนี้โรคงูสวัดสามารถป้องกันได้

พญ.พิรญาณ์ธำรงธีระกุล แพทย์ผิวหนังประจำแอปพลิเคชันหมอดี
NP-TH-HZU-WCNT-250006 | Updated 04/2025

"งูสวัด" ป้องกันได้อย่างไรและใครสามารถฉีดวัคซีนงูสวัดได้

สรุปข่าว

โรคงูสวัดสามารถป้องกันได้ พญ.พิรญาณ์ ธำรงธีระกุล แพทย์ผิวหนัง ประจำแอปพลิเคชันหมอดี แนะนำว่า ควรที่จะทำให้ร่างกายให้แข็งแรง และพยามหลีกเลี่ยงความเครียด ก็จะเป็นการดูแลภูมิต้านทานของเราให้แข็งแรง นอกจากนี้ปัจจุบันมีวัคซีนที่ช่วยป้องกัน ลดความรุนแรงของโรคงูสวัดและภาวะแทรกซ้อนจากงูสวัดได้

อะไรคือสาเหตุของโรคงูสวัด

โรคงูสวัด (Herpes zoster/Shingles) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา (varicella virus) ซึ่งเป็นเชื้อเดียวกันกับที่ทำให้เป็น ถ้าผู้ป่วยเคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อนเชื้อจะยังอยู่ในปมประสาท เมื่ออายุมากขึ้นภูมิต้านทานอ่อนแอลง ไม่สบายด้วยโรคอื่น หรือมีความเครียด ร่างกายไม่แข็งแรง เชื้อก็จะปะทุขึ้นมาใหม่เกิดเป็นโรคงูสวัด โดยงูสวัดมักจะเกิดตามแนวเส้นประสาททำให้มีอาการปวดแสบ ปวดร้อน ลักษณะผื่นจะเป็นผื่นแดง มีตุ่มน้ำใสคล้ายกับอีสุกอีใสแต่ไม่ได้เป็นทั่วตัว

ดังนั้นความแตกต่างระหว่างการเป็นโรคอีสุกอีใสคือการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลาในครั้งแรกแต่การเป็นงูสวัดคือ การปะทุขึ้นอีกครั้งของเชื้อไวรัสวาริเซลลา1

ใครคือกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคงูสวัด

โรคงูสวัดมักเกิดในช่วงที่ภูมิต้านทานร่างกายอ่อนแอทำให้เชื้อไวรัสวาริเซลลาที่อยู่ในร่างกายกลับขึ้นมาใหม่ ดังนั้นคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงคือ คนที่มีปัญหาเรื่องภูมิต้านทาน ประกอบด้วย

    ผู้สูงอายุ พออายุมากขึ้นภูมิต้านทานจะอ่อนแอลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้น1

    คนที่มีโรคประจำตัวเช่นโรคเรื้อรังต่างๆเบาหวานโรคหัวใจโรคไตเป็นต้นจะมีความเสี่ยงที่จะทำให้ภูมิต้านทานอ่อนแอลง และเป็นงูสวัดได้ง่ายขึ้น2

อาการของโรคงูสวัด

เริ่มแรกจะมีอาการแสบร้อน โดยที่ไม่มีผื่นตามแนวเส้นประสาท ในอีก 2-3 วัน ต่อมาจึงจะมีผื่นขึ้น และเนื่องด้วยเชื้องูสวัดจะอยู่ตามแนวเส้นประสาท ดังนั้นอาการที่เกิดคือ จะเจ็บแสบร้อนในบริเวณที่เส้นประสาทนั้นอักเสบ ลักษณะผื่นงูสวัดจะเป็นผื่นแดงนูน มีตุ่มน้ำใส ทั้งนี้ความรุนแรงของความปวดงูสวัดขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลอาจจะไม่สามารถบอกได้ว่าใครปวดมากปวดน้อย และถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาการนี้สามารถที่จะเรื้อรังได้1

งูสวัดสามารถเกิดขึ้นบริเวณใดได้บ้าง

โรคงูสวัดสามารถเกิดขึ้นได้ที่บริเวณใบหน้าแขนขาหรือลำตัว สำหรับคนที่เป็นโรคงูสวัดที่ใบหน้าจะต้องระวังเป็นพิเศษเพราะจะมีความเกี่ยวเนื่องกับเส้นประสาทที่ดวงตาได้

อาการแทรกซ้อนของโรคงูสวัดที่พบบ่อย 

อาการแทรกซ้อนของโรคงูสวัดมีดังนี้

    ความเจ็บปวดเรื้อรังตามแนวเส้นประสาท จะเกิดขึ้นเมื่อไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี โดยเฉพาะใน ผู้สูงอายุ หรือคนที่มีภูมิต้านทานอ่อนแอมาก ๆ จะพบได้บ่อย

    การติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนจากตุ่มน้ำที่แตกหรือเป็นแผลสามารถทำให้เป็นแผลเป็นได้

    คนที่โรคลุกลามไปเยอะมาก ๆ อาจะมีความเกี่ยวเนื่องกับระบบประสาท หรือ เส้นเลือดหัวใจ เส้นเลือดสมองได้1,3

โรคงูสวัดติดต่อได้หรือไม่

โดยปกติเชื้อไวรัสติดต่อกันได้แต่ว่าการเป็นงูสวัดไม่ได้ติดเชื้อมาจากใคร เชื้องูสวัดอยู่ในร่างกายของเราตั้งแต่แรกดังนั้นคนที่เป็นงูสวัดอยู่จะไปแพร่เชื้อให้คนอื่นไม่ได้ แต่ถ้าคนที่เป็นงูสวัดไปสัมผัสใกล้ชิดกับคนที่ยังไม่เคยมีภูมิต้านทานโรคอีสุกอีใสมาก่อน คนนั้นอาจจะติดเชื้อไวรัสวาริเซลลาและอาจจะเป็นโรคอีสุกอีใสได้1

จริงหรือไม่ งูสวัดพันรอบตัวจะทำให้เสียชีวิต

การที่งูสวัดจะพันรอบตัวเกิดขึ้นได้ยากมาก การที่ผื่นงูสวัดขึ้นทั่วร่างกาย อาจจะเจอได้ในคนที่มีภูมิต้านทานอ่อนแอมาก ๆ แต่ถ้าเกิดงูสวัดพันรอบตัวขึ้นมาจริง ๆ ก็จะไม่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคงูสวัด การเสียชีวิตจะเกิดขึ้นได้จากอาการแทรกซ้อน หรือว่าเป็นโรคประจำตัวของผู้ป่วยที่เป็นอยู่มากกว่า1

การรักษาโรคงูสวัด

    ปัจจุบันงูสวัดสามารถรักษาได้ด้วยยาต้านไวรัส  

    ในส่วนของเส้นประสาทอักเสบ ปวดแสบ ปวดร้อน แพทย์จะให้ยาลดการอักเสบของเส้นประสาท

    เพื่อป้องกันการติดเชื้อของผื่น หรือไม่อยากให้เป็นแผลเป็น จะมียาทาช่วยให้ผื่นยุบ และไม่คัน ก็จะช่วยป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อนที่เกิดที่ผิวหนังได้1

พญ.พิรญาณ์ธำรงธีระกุลแพทย์ผิวหนังประจำแอปพลิเคชันหมอดีกล่าวอีกว่า“ โรคงูสวัดสามารถรักษาให้หายได้แต่อาการเส้นประสาทอักเสบมักมีโอกาสที่จะเป็นเรื้อรังหรือรุนแรงได้เพราะว่ามีเชื้ออยู่ในร่างกายของเราอยู่แล้วถ้าเกิดว่าภูมิต้านทานของเราอ่อนแอก็จะสามารถทำให้เชื้องูสวัดแสดงอาการได้ ”1

โรคงูสวัดสามารถป้องกันได้อย่างไร

พญ.พิรญาณ์ ธำรงธีระกุล แพทย์ผิวหนัง ประจำแอปพลิเคชันหมอดี แนะนำว่า ควรที่จะทำให้ร่างกายให้แข็งแรง คือ นอนหลับให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย และพยามหลีกเลี่ยงความเครียด ก็จะเป็นการดูแลภูมิต้านทานของเราให้แข็งแรง แต่ถ้าเป็นงูสวัดแล้วนอกจากการดูแลตัวเองข้างต้น ถ้าอยากหายไวก็ควรที่เข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ปัจจุบันมีวัคซีนที่ช่วยป้องกัน ลดความรุนแรงของโรคงูสวัดและภาวะแทรกซ้อนจากงูสวัดได้

วัคซีนป้องกันโรคงูสวัดมีมานานแล้วแต่ปัจจุบันมีวัคซีน 2 ชนิด คือวัคซีนที่ไม่ใช่เชื้อเป็นและแบบเชื้อเป็น

ใครที่สามารถฉีดวัคซีนงูสวัดได้4

    คนเป็นกลุ่มเสี่ยงคือ คนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป 

    คนที่มีโรคเรื้อรัง มีปัญหาเรื่องภูมิต้านทาน มีโรคประจำตัว ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป

วัคซีนงูสวัดต้องฉีดอย่างไร

วัคซีนป้องกันงูสวัด Recombinant Subunit Zoster Vaccine (RZV) ฉีดทั้งหมด 2 เข็มที่กล้ามเนื้อต้นแขน

    ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปควรฉีดห่างกันเข็มละ 2 – 6 เดือน 

    คนที่มีปัญหาเรื่องภูมิต้านทานมีโรคประจำตัวที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ควรฉีดห่างกัน 1 – 2 เดือน

วัคซีนป้องกันงูสวัด Zoster Vaccine Live (ZVL) ต้องฉีดทั้งหมด 1เข็มที่ชั้นใต้ผิวหนัง โดยฉีดได้ในผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป

ทั้งนี้พญ.พิรญาณ์ธำรงธีระกุลแพทย์ผิวหนังประจำแอปพลิเคชันหมอดีกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “ สำหรับใครที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์ตามสถานพยาบาลทั่วไปหรือในแอปพลิเคชันหมอดีซึ่งมีบริการฉีดวัคซีนถึงบ้าน Home Vaccination โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ”


แหล่งอ้างอิง

1.    Harpaz, R., Ortega-Sanchez, I. R., Seward, J. F., & Advisory Committee on Immunization Practices (ACIP) Centers for Disease Control and Prevention (CDC) (2008). Prevention of herpes zoster: recommendations of the Advisory Committee on Immunization Practices (ACIP). MMWR. Recommendations and reports : Morbidity and mortality weekly report. Recommendations and reports, 57(RR-5), 1–CE4.

2.    Marra, F., Parhar, K., Huang, B., & Vadlamudi, N. (2020). Risk Factors for Herpes Zoster Infection: A Meta-Analysis. Open forum infectious diseases, 7(1), ofaa005. https://doi.org/10.1093/ofid/ofaa005

3.    Erskine, N., Tran, H., Levin, L., Ulbricht, C., Fingeroth, J., Kiefe, C., Goldberg, R. J., & Singh, S. (2017). A systematic review and meta-analysis on herpes zoster and the risk of cardiac and cerebrovascular events. PloS one, 12(7), e0181565. https://doi.org/10.1371/journal.pone.0181565

4.    IDAT. (2025). Recommend Adult and Elderly Immunization Schedule.

avatar

พรรณพิไล ปุกหุต