คปภ. ยืนยัน "ธุรกิจประกัน" แข็งแกร่ง จ่ายเคลม "แผ่นดินไหว" ใน 15 วัน

คืบหน้าการออกมาตรการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาด้านประกันภัยจากเหตุแผ่นดินไหว ในเมียนมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีรายงานว่าอาคารสูงหลายแห่งได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะตึกของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ในเขตจตุจักร ถล่มลงมา จนเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บ สูญหาย และเสียชีวิตหลายราย


ล่าสุด ธุรกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านประกันภัยในเมืองไทย ได้ร่วมกันแถลงข่าว ประกอบไปด้วย นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ร่วมกับนายสมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย และนางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย 


โดยนายชูฉัตร เลขาธิการ คปภ. เปิดเผยว่า  จากเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ยืนยันว่าไม่กระทบต่อธุรกิจประกันในภาพรวม จากการตรวจสอบดัชนีความมั่นคงบริษัทประกันภัยตามกฎหมาย ยังแข็งแกร่งมาก มีเงินกองทุนสูงราว 200-300% มากกว่าขั้นต่ำที่ 100%




 คปภ. ยืนยัน "ธุรกิจประกัน" แข็งแกร่ง  จ่ายเคลม "แผ่นดินไหว" ใน 15 วัน

สรุปข่าว

คปภ. ยืนยัน "ธุรกิจประกัน" แข็งแกร่ง พร้อมจ่ายเคลม "แผ่นดินไหว" ภายใน 15 วัน

สำหรับกรณีของอาคาร สตง.ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างถล่มนั้น  พบว่า โครงการดังกล่าวมีการทำประกันภัย Construction All Risk (CAR) ไว้กับ 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท อินทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) พร้อมมีการลงพื้นที่ตรวจสอบแล้ว ยืนยันว่าความเสียหายนี้ จะไม่กระทบความมั่นคงของทั้ง 4 บริษัท


โดยทางสำนักงาน คปภ.ยืนยันว่าธุรกิจประกันภัยมีความพร้อมในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนในเหตุการณ์แผ่นดินไหว และได้ติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด  พร้อมเตรียมตั้งศูนย์ช่วยเหลือด้านประกันภัย ณ จุดเกิดเหตุ และที่สำนักงาน คปภ.เพื่อให้การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบให้รวดเร็ว


ด้านนายสมพร นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า กรณีตึก สตง.แห่งใหม่ที่ถล่ม ได้ทำประกันภัยไว้กับ 4 บริษัทคือ วงเงินคุ้มครอง 2.2 พันล้านบาท และมีการทำประกันต่อในต่างประเทศเพื่อบริหารความเสี่ยง


ส่วนข้อกังวลว่า หากมีการตรวจสอบพบว่าการก่อสร้างไม่ถูกต้อง หรือใช้วัสดุไม่ได้มาตรฐาน จะมีผลต่อความรับผิดชอบของบริษัทประกันหรือไม่นั้น เรื่องนี้ภาคธุรกิจประกันภัย กล่าวว่าต้องยึดตามเงื่อนไขในสัญญากรมธรรม์เป็นหลัก โดยต้องรอการสอบสวนสาเหตุจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการ


นอกจากนี้ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า ปัจจุบันกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินทั้งประเทศมีจำนวน 194,389 ฉบับ แบ่งเป็น กรุงเทพฯ และปริมณฑล 95,372 ฉบับ และจังหวัดอื่น ๆ 99,017 ฉบับ มีทุนประกันกว่า 200,000 ล้านบาท





ขณะที่การทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย ปัจจุบันมีจำนวนทั่วประเทศ 5.37 ล้านฉบับ 

โดยในกรณีที่อยู่อาศัยที่ทำประกันอัคคีภัย ได้รับความคุ้มครองจากภัยแผ่นดินไหวไม่เกิน 20,000 บาท

และหากผู้เอาประกันตกลงค่าสินไหมตามมาตรฐานที่บริษัทกำหนดได้ จะต้องจ่ายภายใน 15 วัน


กรณีของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งที่พักอยู่อาศัยใน บ้าน และคอนโดมีเนียม  ขอให้เร่งถ่ายรูปความเสียหายและรวบรวมที่นิติบุคคล ส่งให้บริษัทประกันภัย หรือแจ้งมาที่บริษัทประกันภัยได้โดยตรง หากประชาชนที่ที่พักเสียหายและเสี่ยงเกิดอันตราย สามารถซ่อมแซมเพื่อความปลอดภัยได้ก่อน โดยไม่ต้องรอการประเมินจากประกัน แต่ต้องมีการบันทึกภาพความเสียหาย ไว้ประกอบการขอชดเชย

ที่มาข้อมูล : คปภ.

ที่มารูปภาพ : Freepik canva

avatar

ทิฆัมพร อยู่กำเหนิด

แท็กบทความ