
นายแพทย์เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โพสต์ถึงสุขภาพของการขับถ่าย โดยตั้งคำถามว่า อุจจาระทุกวันถึงจะสุขภาพดีจริงหรือเปล่า? โดยระบุว่า
เคยสงสัยกันไหมว่า “อุจจาระทุกวันถึงจะสุขภาพดีจริงหรือเปล่า?” หรือถ้าวันไหนไม่ได้อึ แปลว่าระบบย่อยอาหารเรามีปัญหา? จริงๆ แล้ว เรื่องอึมันซับซ้อนกว่าที่คิดนะ วันนี้จะมาเล่าให้ฟังนะครับ ต้องอึวันละกี่ครั้งถึงจะปกติ อึแบบไหนเรียกว่าดี และถ้าอึผิดปกติควรทำยังไง
1. เราต้องอุจจาระทุกวันไหม?
อุจจาระมันเป็นเหมือนสัญลักษณ์แห่งความสุขภาพดีเนาะ ใครไม่อุจจาระก็นอยละ คิดว่าตัวเองผิดปกติ บางคนอึทุกเช้าเหมือนเป็นกิจวัตร แต่บางคนสองวันอึที หรือบางทีสามวันกว่าจะมา อันไหนปกติ?
คำตอบคือเรา “ไม่จำเป็นต้องอุจจาระวัน”
งานวิจัยบอกว่า ช่วงที่ถือว่าปกติคืออุจจาระ 3 ครั้งต่อวัน จนถึง 3 ครั้งต่อสัปดาห์ จำง่ายๆคือ “สามสาม” ถ้าคุณอุจจาระทุกวัน แปลว่าร่างกายคุณอาจเผาผลาญเร็วและย่อยดี แต่ถ้าคุณอุจจาระวันเว้นวัน หรืออึแค่สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ก็ยังถือว่าปกติ ถ้าไม่มีอาการท้องอืดหรือแน่นท้อง
แต่ต้องเริ่มกังวลเมื่อไหร่?
ถ้าอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ อาจเข้าข่าย “ท้องผูก”
ถ้าอุจจาระบ่อยเกินวันละ 3 ครั้ง หรืออุจจาระเหลว อาจเข้าข่าย “ท้องเสีย”
2. อุจจาระแบบไหนถึงเรียกว่าขับถ่ายดี?
นอกจากดู “ความถี่” แล้ว ลักษณะของอุจจาระ ก็สำคัญ
จริงๆมันมีตาราง Bristol Stool Chart เอาไว้แบ่งประเภทอึออกเป็น 7 แบบนะ
อุจจาระแข็งเป็นเม็ดเล็กๆ (Type 1) → ท้องผูกหนักมาก ร่างกายดูดน้ำจากอึมากไป
อุจจาระแข็งเป็นก้อนยาว (Type 2) → ท้องผูกเล็กน้อย ควรกินไฟเบอร์เพิ่ม
อุจจาระเป็นแท่งยาว มีรอยแตกเล็กๆ (Type 3) → ปกติ แต่ยังขาดความชุ่มชื้น
อุจจาระเป็นแท่งเรียบ ลื่น (Type 4) → ปกติที่สุด! อุจจาระออกง่าย ไม่ต้องเบ่งเยอะ
อุจจาระเป็นก้อนนิ่มๆ หลายชิ้น (Type 5) → เริ่มไปทางอ่อนนิ่ม กินไฟเบอร์เยอะเกินไป
อุจจาระป็นเนื้อเหลว (Type 6) → ท้องเสียเล็กน้อย ลำไส้เคลื่อนตัวเร็วเกินไป
อุจจาระเป็นน้ำ ไม่มีเนื้อเลย (Type 7) → ท้องเสียหนัก อาจเกิดจากอาหารเป็นพิษ
อุจจาระที่ “ดีที่สุด” ควรเป็น Type 3 หรือ 4 เพราะเป็นก้อนนุ่ม ขับถ่ายออกง่าย ไม่ต้องเบ่งเยอะ

สรุปข่าว
3. อาหารส่งผลต่ออุจจาระยังไง?
อาหารที่เรากินมีผลโดยตรงกับลักษณะของอุจจาระ
กินผักเยอะ ไฟเบอร์สูง → อุจจาระเป็นก้อนนิ่ม ขับถ่ายง่าย
กินเนื้อเยอะ ไขมันเยอะ →อุจจาระอาจแข็งขึ้น หรือขับถ่ายน้อยลง
กินของหวานเยอะ แอลกอฮอล์เยอะ → อุจจาระอาจเหลว หรือขับถ่ายบ่อยขึ้น
การกินส่งผลต่ออุจจาระเรามาก ดูอย่าง Carnivore Diet คือการกินแต่เนื้อสัตว์และไขมัน ไม่มีไฟเบอร์เลย เพราะฉะนั้น บางคนอุจจาระน้อยลง แต่ไม่ได้แปลว่าท้องผูก เพราะร่างกายดูดซึมสารอาหารไปใช้หมด ทำให้มีของเสียออกมาน้อย บางคนอาจอุจจาระน้อยลงเหลือ 2-3 วันครั้ง และอุจจาระอาจแข็งขึ้นและมีกลิ่นแรง รวมไปถึงบางคนอาจมีท้องเสียในช่วงแรก เพราะร่างกายต้องปรับตัวกับการเผาผลาญไขมันสูง
ถ้ากิน Carnivore Diet แล้วรู้สึกสบายท้อง ไม่มีอาการอึดอัด ก็ถือว่าปกตินะครับ
4. ท้องผูก vs. ท้องเสีย แก้ยังไง?
แล้วถ้ารู้สึกว่าขับถ่ายผิดปกติ ลองแก้ไขตามนี้ได้เลย
ถ้าท้องผูก
ดื่มน้ำเยอะขึ้น (วันละ 2-3 ลิตร)
กินอาหารที่มีไฟเบอร์ (ผัก ผลไม้ ธัญพืช)
ออกกำลังกาย เช่น เดินหลังอาหาร
กินอาหารที่มีโพรไบโอติกส์หรือกินเป็นอาหารเสริมก็ได้
ถ้าท้องเสีย
หลีกเลี่ยงอาหารมันจัด นม หรือของเผ็ด
ดื่มน้ำเกลือแร่ทดแทนน้ำที่เสียไป
กินอาหารอ่อน เช่น ข้าวต้ม ต้มจืด
ถ้าอาการรุนแรงเกิน 48 ชั่วโมง ควรพบรีบหาหมอ
5. สรุปง่ายๆ เราไม่จำเป็นต้องอุจจาระทุกวัน
ถ้าอุจจาระไม่บ่อยแต่ไม่มีอาการแน่นท้อง หรือท้องเสียแต่ไม่รุนแรง ก็ไม่ต้องเครียด สำคัญคือขับถ่ายแล้วรู้สึกดี ก็พอแล้ว อีกอย่างที่อยากฝากทุกคนคือ สังเกตอึตัวเองด้วย มันก็เป็นสัญญาณบอกโรค อันนี้ก็สำคัญเหมือนกัน
ที่มาข้อมูล : นายแพทย์เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา
ที่มารูปภาพ : Canva