ไข้หวัดใหญ่ ระบาด! ป่วยสะสมทะลุ 1 แสน เสียชีวิต 9 ราย เช็กอาการที่นี่

แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกรมควบคุมโรค ระบุถึงสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ ว่า ยังคงระบาดต่อเนื่องและพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งระบบการเฝ้าระวังสถานการณ์โรค จะเป็นการติดตามเป็นรายสัปดาห์ 

โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่ วันที่ 9 -15 กุมภาพันธ์ 2568 พบ ผู้ป่วยรายใหม่ เพิ่มขึ้นกว่า 22,000 คน ทำให้ยอด ผู้ป่วยสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. -18 ก.พ.2568 รวม 117,620 คน ผู้เสียชีวิต 9 ราย

พบมีการระบาดเป็นกลุ่มโดยเฉพาะโรงเรียน ส่วนกลุ่มจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดมากที่สุดคือ เขตสุขภาพที่ 9 ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ ชัยภูมิ  โดยกลุ่มผู้ป่วยที่มากที่สุดอยู่ในช่วงอายุ 5- 9 ปี รองลงมากคือ 10- 14 ปี และ 0- 4 ปี  





ไข้หวัดใหญ่ ระบาด! ป่วยสะสมทะลุ 1 แสน เสียชีวิต 9 ราย เช็กอาการที่นี่

สรุปข่าว

สถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ระบาดรุนแรง พบ ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละกว่า 20,000 คน สะสมตั้งแต่ต้นปีกว่า 1.1 แสนคน เสียชีวิตแล้ว 9 คน แนะกลุ่มเสี่ยงเข้ารับวัคซีน

สถานการณ์การระบาดไข้หวัดใหญ่  ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยจากสภาพอากาศ  โดยในช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมา มักจะเป็นฤดูการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ และโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ จึงมีโอกาสที่จะพบผู้ป่วยและการระบาดเป็นกลุ่มก้อนของโรคไข้หวัดใหญ่และโรคระบบทางเดินหายใจที่มากขึ้น

กระทรวงสาธารณสุขจึงเร่งเดินหน้าฉีดวัคซีน จำนวน 4.5 ล้านโดส ในกลุ่มเป้าหมายหลัก 7 กลุ่ม ตามสิทธิประโยชน์ สปสช. คือ 

1. เด็กอายุ 6 เดือน - 2 ปี 

2. ผู้สูงอายุที่อายุ 65 ปีขึ้นไป 

3. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้

4. ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค

5. ผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง 

6. ผู้ที่ป่วยเป็นโรคอ้วน มีน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป 

7. หญิงตั้งครรภ์ พร้อมแนะนำบุคคลกลุ่มเสี่ยงทั้ง 7 กลุ่ม ให้รีบเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เพื่อลดความรุนแรงของโรคและการเสียชีวิต

อาการไข้หวัดใหญ่ 

อาการจะเริ่มหลังได้รับเชื้อ 1-4 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้แบบทันทีทันใด ( 38 ซ ในผู้ใหญ่ ส่วนในเด็กมักจะสูงกว่านี้) ปวดศีรษะ หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียมาก และอาจพบอาการคัดจมูก เจ็บคอ ถ้าป่วยเป็นระยะเวลานานอาจจะมีอาการไอจากหลอดลมอักเสบ (post viral bronchitis) 

อาการจะรุนแรงและป่วยนานกว่าไข้หวัดธรรมดา (common cold) ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่มีบางรายที่มีอาการรุนแรง เนื่องจากมีภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญคือ ปอดบวม ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ 

ผู้ที่เสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือเสียชีวิต ได้แก่


-ผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป
-เด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี
-ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคไต เบาหวาน ภูมิคุ้มกันบกพร่อง
-เด็กที่ได้รับการรักษาด้วยยาแอสไพรินเป็นเวลานาน
-หญิงตั้งครรภ์ระยะที่ 2 หรือ 3 ในฤดูกาลที่มีไข้หวัดใหญ่สูง



ที่มาข้อมูล : TNN

ที่มารูปภาพ : Reuters