

สรุปข่าว
“พาโธโลจิคอล แกมบลิ้ง” (Pathological Gambling) ซึ่งถึงแม้เจ้าตัวรู้ว่าสิ่งที่ทำลงไปเป็นสิ่งไม่ดี เป็นสิ่งผิด หรือส่งผลร้ายต่อชีวิต เช่น การเงิน การเรียน สุขภาพ หรือสังคม แต่ก็อดไม่ได้ที่จะไม่ทำ คล้ายการติดสารเสพติด มีจิตใจจดจ่ออยู่กับการพนันตลอดเวลา ไม่สามารถคิด หรือทำอย่างอื่น มีแต่ความโหยหาอยากเล่น ยากที่จะควบคุม ในที่สุดก็เล่นการพนันต่อโดยไม่ยั้งคิด พฤติกรรมพวกนี้คล้ายพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำ ซึ่งต้องได้รับการบำบัดรักษา โดยในรายที่มีอาการมาก อาจต้องให้ยาลดการย้ำคิดย้ำทำ จากนั้นต้องพาไปทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่ให้มีการเล่นพนัน รวมถึงการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องการควบคุมตัวเอง หางานอดิเรกให้ทำ หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ร่วมกับครอบครัว
ผลวิจัยจากศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบผลเสียหายด้านสุขภาพจิต คือ คนติดพนันมีปัญหาความผิดปกติด้านอารมณ์ แบบโรคซึมเศร้าแบบขั้วเดียวถึง ร้อยละ 70 และความผิดปกติด้านอารมณ์รุนแรงสลับไปมา 2 ขั้ว ร้อยละ 30 ผลเสียหายจากการติดพนันอย่างหนัก คือ การคิดเรื่องฆ่าตัวตายและพยายามฆ่าตัวตายราว ร้อยละ 17-24 ของคนติดพนันอย่างหนักมีการพยายามฆ่าตัวตายครั้งหนึ่งในชีวิต ส่วนใหญ่เกิดขึ้นทันทีหลังจากเล่นสูญเสียเงินจำนวนมากและผลเสียด้านสุขภาพจิตอีกเรื่อง คือ การสร้างและคงรักษาไว้ซึ่งกระบวนการรู้คิดที่บิดเบือน เกี่ยวกับการเล่นการพนัน เช่น การคิดว่าตัวเองมีทักษะการเล่นพนันแบบเอาชนะได้ เชื่อว่าโอกาสแพ้ชนะมี 50-50 ทั้งที่ความจริงแล้วการพนันหลายอย่าง การชนะมีเปอร์เซ็นต์ต่ำกว่าการแพ้หลายเท่ามาก ฯลฯ
สาเหตุของการติดการพนันมี 2 สาเหตุใหญ่ ประการแรก คือ เกิดจากตัวเอง อาจมีปัญหาในการควบคุมตัวเอง (Self-Control) อยู่แล้ว เพราะโดยปกติแล้วคนเราต้องมีการควบคุมตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการใช้เงิน การใช้โทรศัพท์มือถือ การใช้อินเทอร์เน็ต และการใช้เวลาไปกับความบันเทิงเริงใจหรือกิจกรรมที่ไม่มีประโยชน์ แต่สำหรับผู้ที่มีปัญหาในเรื่องของการควบคุมตัวเองอย่างมาก อาจมีความเสี่ยงติดการพนันได้มากกว่า สาเหตุประการที่สอง คือ กระแสสังคมและการโฆษณา อาจทำให้หลงใหลไปกับคำโฆษณาชวนเชื่อว่าหาเงินได้โดยง่าย โดยเฉพาะการเล่นพนันอย่างบาคาร่า โฆษณาจะชักชวนให้ได้ลองเล่นโดยเริ่มต้นลงทุนเพียงหลักสิบบาทเท่านั้น
สำหรับคนที่ติดการพนันจนระบุว่า ป่วยจนต้องพบแพทย์มีอยู่ 10 ข้อ คือ
1.หมกมุ่นอยู่กับการพนัน
2.ต้องเพิ่มเงินในการเล่นเพื่อให้รู้สึกตื่นเต้นมากขึ้นเรื่อยๆ
3.ไม่สามารถหยุดเล่นได้
4.มีอาการกระวนกระวายเวลาที่หยุดเล่น
5.ใช้พนันเพื่อหลบเลี่ยงปัญหาทางจิตใจ เช่นเมียทิ้ง ตกงาน
6.พอเสียเงินจะรีบกลับมาเล่นใหม่
7.จะเริ่มพูดปดกับครอบครัว
8.เริ่มทำผิดกฎหมาย
9.สูญเสียความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด
10.เกิดความหายนะกับชีวิต
ประมาณร้อยละ 20 ของผู้เล่นการพนันมีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตาย และสัดส่วนผู้ชายจะมากกว่าผู้หญิง เริ่มแรกจะเข้าสังคมเฉยๆ ต่อมาเล่นประจำเรื้อรัง เพิ่มเงินในการเล่นเรื่อยๆ จนซึมเศร้าฆ่าตัวตาย
ที่มา : พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ จิตแพทย์โรงพยาบาลศรีธัญญา / โรงพยาบาลมนารมย์
ที่มาข้อมูล : -