

สรุปข่าว
วารสารการแพทย์บีเอ็มเจ (BMJ) เผยแพร่ผลการศึกษาใหม่ที่พบว่าผู้รับประทานช็อกโกแลตเป็นประจำมีความเสี่ยงป่วยเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ต่ำกว่า แต่ต้องเป็นดาร์กช็อกโกแลต ไม่ใช่ช็อกโกแลตนม
คณะนักวิจัยยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่เชื่อว่าดาร์กช็อกโกแลตมีประโยชน์ต่อระบบเผาผลาญมากกว่าช็อกโกแลตนม เพราะมีน้ำตาลน้อยกว่าและสารประกอบจากพืชสูงกว่า ซึ่งผลการศึกษาบางส่วนพบดาร์กช็อกโกแลตลดการอักเสบและปรับปรุงความไวต่ออินซูลิน
การศึกษาจำนวนมากก่อนหน้านี้ตรวจสอบผลกระทบต่อสุขภาพจากการรับประทานช็อกโกแลต ส่วนการศึกษาใหม่นี้เป็นหนึ่งในการศึกษาไม่กี่ฉบับที่เปรียบเทียบดาร์กช็อกโกแลตกับช็อกโกแลตนมโดยเฉพาะ และเป็นหนึ่งในการศึกษาหัวข้อนี้ครั้งใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน
เดอะ วอชิงตัน โพสต์ รายงานเกี่ยวกับการศึกษานี้ว่าดาร์กช็อกโกแลตมีโกโก้อยู่มากกว่า ส่งผลให้มีความเข้มข้นของสารประกอบจากพืชอันเป็นประโยชน์ ซึ่งเรียกว่าโพลีฟีนอล (polyphenol) มากกว่าหลายเท่า โดยเฉพาะที่เรียกว่าฟลาโวนอยด์ (flavonoid)
สารประกอบที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระและพบได้ในอาหารจากพืชหลายชนิด ทั้งผลไม้ ผัก ชา และกาแฟ โดยการศึกษาหลายฉบับชี้ว่าฟลาโวนอยด์อาจช่วยป้องกันโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ด้วยการปรับปรุงการตอบสนองต่ออินซูลินและการสลายน้ำตาลของร่างกาย รวมถึงปกป้องเบตาเซลล์ที่ผลิตและปล่อยอินซูลินจากตับอ่อน
ที่มาข้อมูล: Xinhua Thai
ภาพปก : Envato
ที่มาข้อมูล : -