

สรุปข่าว
ไมเกรน (Migraine) เป็นโรคปวดศีรษะเรื้อรังชนิดหนึ่งที่ส่งผลต่อชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดศีรษะข้างเดียว ปวดตุบๆ เป็นระยะๆ หรือเป็นจังหวะ อาจจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ร่วมด้วย บางรายอาจมีอาการแพ้แสง เสียง หรือกลิ่น
ไมเกรน เกิดจากอะไร?
สำหรับสาเหตุของไมเกรนยังไม่ทราบแน่ชัด แต่คาดว่าเกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน ดังนี้
พันธุกรรม: หากมีคนในครอบครัวเป็นไมเกรน มีโอกาสเป็นไมเกรนได้มากกว่าคนทั่วไป
ฮอร์โมน: ฮอร์โมนเพศหญิงมีบทบาทสำคัญ ผู้หญิงจึงมักเป็นไมเกรนมากกว่าผู้ชาย และอาการมักจะแย่ลงในช่วงมีประจำเดือน
สารเคมีในสมอง: การเปลี่ยนแปลงระดับสารเคมีในสมอง เช่น เซโรโทนิน โดปามีน อาจกระตุ้นให้เกิดไมเกรนได้
ปัจจัยกระตุ้น: ปัจจัยต่างๆ เช่น ความเครียด การอดนอน แสงจ้า เสียงดัง กลิ่นแรง อาหารบางชนิด อาจกระตุ้นให้เกิดอาการไมเกรน
อาการของไมเกรน
สำหรับอาการของไมเกรนแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้
ระยะก่อนมีอาการ (Prodrome): 24 ชม. ก่อนปวดศีรษะ จะมีอาการอยากอาหาร อารมณ์เปลี่ยนแปลง ควบคุมการหาวไม่ได้ บวมน้ำหรือปัสสาวะบ่อย เป็นต้น
ระยะอาการนำ (Aura): 20 – 40 นาทีก่อนหรือระหว่างปวดศีรษะ จะเห็นแสงแฟลช แสงสว่างจ้า หรือเส้นเป็นซิกแซก และอาการอ่อนแรง เป็นต้น
ระยะปวดศีรษะ: เป็นระยะที่ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะรุนแรง อาจจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน แพ้แสง เสียง หรือกลิ่น ร่วมด้วย ระยะนี้มักจะกินระยะเวลานานหลายชั่วโมง แต่จะไม่นานเกิน 1 วัน
ระยะหลังหาย (Postdrome): เมื่ออาการปวดศีรษะเริ่มดีขึ้น ผู้ป่วยอาจรู้สึกอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรืออารมณ์เปลี่ยนแปลง
อาการปวดไมเกรนต่างจากปวดหัวทั่วไปอย่างไร?
ไมเกรน ต่างจากอาการปวดหัวทั่วไปตรงที่ จะมีอาการปวดแบบตุบๆ เป็นระยะๆ หรือเป็นจังหวะ มักปวดข้างเดียว คล้ายถูกค้อนทุบ ความรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ไมเกรนมักมาพร้อมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน แพ้แสง เสียง หรือกลิ่นด้วย
สำหรับใครที่สงสัยว่าเป็นตนเองเป็นไมเกรนหรือไม่ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องต่อไป
ที่มาข้อมูล : โรงพยาบาลเมดพาร์ค, โรงพยาบาลพระราม 9
ที่มาข้อมูล : -