เปิดปัจจัยเสี่ยง "กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด" ที่หลีกเลี่ยงได้และไม่ได้?

เปิดปัจจัยเสี่ยง "กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด" ที่หลีกเลี่ยงได้และไม่ได้?

สรุปข่าว

เปิดปัจจัยเสี่ยง "โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน" ที่หลีกเลี่ยงได้และไม่ได้ พบเพศชายมีความเสี่ยงมากกว่าเพศหญิง


โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันเป็นโรคที่เป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญในประเทศไทยและทั่วโลก โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันเกิดจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจมีการอุดตันเฉียบพลันทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดส่งผลให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดอันตรายรุนแรง ทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆได้ทำให้ผู้ป่วยหมดสติกระทันและเสียชีวิตถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที นอกจากนี้ถ้ามีกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเป็นบริเวณกว้างส่งผลทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวตามมา


กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งขณะทำงาน เล่นกีฬา หรือขณะพักผ่อน สาเหตุเนื่องจากมีภาวะหลอดเลือดแดงแข็งหรือบริเวณที่มีคราบไขมัน เกิดการปริของผนังหลอดเลือดทำให้มีลิ่มเลือดมาเกาะที่ผนังหลอดเลือดและก่อตัวเป็นลิ่มเลือดจนเกิดการอุดตันส่งผลทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด 


อาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดแบ่งให้เข้าใจง่าย ๆ เป็น 3 ระดับ

ระดับที่ 1 มีอาการเจ็บหน้าอกขณะออกแรง โดยมักจะเจ็บหน้าอกแบบแน่น ๆ บีบ ๆ หรือหนัก ๆ ที่หน้าอกตรงกลาง หรือหน้าอกด้านซ้าย โดยอาการเจ็บหน้าอกอาจร้าวไปที่ขากรรไกรล่าง กรามหรือหัวไหล่ ท้องแขนด้านซ้าย หรือทั้งสองข้างก็ได้ มักจะเป็นไม่นานประมาณ 5-10 นาที อาการก็จะดีขึ้นหรือหาย เมื่อหยุดพัก

ระดับที่ 2 มีอาการเจ็บหน้าอกขณะพัก และอาการจะรุนแรงมากขึ้น เป็นนานมากขึ้นประมาณ 10 ถึง 20 นาที และเป็นบ่อยขึ้นกว่าเดิม โดยอาการอาจทุเลาลงได้เมื่อหยุดพัก หรืออาจจะไม่ดีขึ้น แต่ตรวจไม่พบมีการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหัวใจ

ระดับที่ 3 มีอาการเจ็บหน้าอกขณะพัก โดยมักมีอาการเกิดขึ้นทันทีทันใด อาการเจ็บหน้าอกมักเป็นรุนแรงและเป็นนานกว่า 30 นาที ขึ้นไป โดยมักมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย หากพบว่ามีอาการอยู่ในระดับที่ 3 ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน เนื่องจากถือว่าอาการอยู่ในขั้นรุนแรงและอันตราย ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจเป็นอันตรายถึงขั้นเป็นโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และเสียชีวิตได้


ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

ปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

1. เพศชายมีความเสี่ยงมากกว่าเพศหญิง

2. อายุ เพศชายที่มีอายุมากกว่า 45 ปี และเพศหญิงที่มีอายุมากกว่า 55 ปี มีโอกาสเสี่ยงเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

3. พันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติครอบครัว (first degree relative) หมายถึง พ่อแม่ พี่น้อง ลูก เป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตันก่อนวัยอันควร (เพศชายอายุน้อยกว่า 55 ปี เพศหญิงอายุน้อยกว่า 65 ปี)

ปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้

1. ความดันโลหิตสูง ความเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคตา หรือโรคไต

2. ระดับไขมันในเลือดสูง ไขมันจะจับที่ผนังด้านในหลอดเลือดหัวใจเกิดการรวมตัวเป็นแผ่นหนามากขึ้น ทำให้หลอดเลือดตีบแคบลง ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น

3. การสูบบุหรี่ สารนิโคตินในบุหรี่จะทำให้หลอดเลือดแดงแข็งตัว ความยืดหยุ่นของหลอดเลือดลดลง เกิดความดันโลหิตสูง

4. โรคเบาหวาน ปัจจัยเสริมที่ทำให้เกิดหลอดเลือดแดงตีบแข็งได้

5. อ้วนลงพุง เนื่องจากคนที่อ้วนลงพุงส่วนใหญ่พบว่ามีระดับไขมันในหลอดเลือดสูง โดยพิจารณาได้จากขนาดของเส้นรอบเอว ผู้ชายไม่ควรเกิน 90 เซนติเมตร และผู้หญิงไม่เกิน 80 เซนติเมตร

6. ขาดการออกกำลังกาย จะทำให้การไหลเวียนเลือดไม่สะดวก การเผาผลาญพลังงานน้อย และเกิดการสะสมของไขมันได้

7. ความเครียด ทำให้ร่างกายเกิด การเผาผลาญไขมันในหลอดเลือดผิดปกติ ทำให้ระดับไขมันในหลอดเลือดสูงได้







ที่มา กรมการแพทย์ / โรงพยาบาลศิริราช / โรงพยาบาลวิชัยเวช

ภาพจาก AFP

ที่มาข้อมูล : -

ที่มารูปภาพ :

แท็กบทความ

หัวใจขาดเลือด
โรคหัวใจขาดเลือด
ภาวะหัวใจขาดเลือด
โรคภาวะหัวใจขาดเลือด
หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน