

สรุปข่าว
รู้จักโรค "กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน" ปล่อยทิ้งไว้ไม่ปลอดภัย รักษาไม่ทัน อาจถึงแก่ชีวิต
ภาวะที่ผนังหลอดเลือดแดงตีบแคบลง ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจมีเลือดไปเลี้ยงลดลงหรือไม่มีเลย ส่งผลให้การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจต้องการออกซิเจนมากขึ้น จะทำเกิดอาการเจ็บหน้าอกและอาจรุนแรงถึงขั้นกล้ามเนื้อหัวใจตาย ซึ่งการที่หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบหรือตัน ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากหลอดเลือดแข็งตัวขึ้น เนื่องจากมีไขมันสะสมในผนังด้านในของหลอดเลือด เป็นผลให้ทางที่เลือดไหลผ่านแคบลง เลือดไหลไม่สะดวก กล้ามเนื้อหัวใจจึงได้รับเลือดน้อยกว่าปกติ นอกจากนั้นยังอาจเกิดจากเกร็ดเลือดและลิ่มเลือดอุดตันอีกด้วย
สาเหตุของการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
เป็นสภาวะของหลอดเลือดหัวใจที่เสื่อมสภาพหรือแข็งตัวแล้วเกิดมีการฉีกขาด หรือปริแตกที่ด้านในของผนังหลอดเลือด เกล็ดเลือดจะเกาะกลุ่มอย่างรวดเร็วบริเวณที่มีการปริแตกหรือฉีกขาด ซึ่งจะมีการกระตุ้นให้เกิดลิ่มเลือดอย่างรวดเร็วในบริเวณดังกล่าว หากลิ่มเลือดอุดกั้นบางส่วนทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกไม่คงที่แต่ยังไม่มีกล้ามเนื้อหัวใจตาย กรณีลิ่มเลือดเกิดการอุดตันโดยสมบูรณ์จะทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
ใครบ้างมีโอกาสเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
-เพศชายมีความเสี่ยงเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมากกว่าเพศหญิง 3-5 เท่า
-ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และเพศหญิงในวัยหมดประจำเดือน
-ผู้ที่สูบบุหรี่
-ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์
-ผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง
-โรคเบาหวาน
-โรคความดันโลหิตสูง
-โรคอ้วน
-ขาดการออกกำลังกาย
-เครียด ขี้หงุดหงิด โมโหง่าย
-คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
อาการแสดงของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
1. เจ็บแน่นหน้าอก มีอาการเจ็บแน่นอยู่ใต้หน้าอก อาจร้าวไปที่แขน ไหล่ คอ หรือกราม อาการเจ็บประมาณ 5-10 นาที อาจถูกกระตุ้นโดยการออกแรง หรือภาวะเครียด อาการจะดีขึ้นเมื่อได้พักหรือใช้ยาอมใต้ลิ้น หรือพ่นยาใต้ลิ้น แต่ในภาวะกล้ามเนื้อโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกอย่างต่อเนื่อง แม้จะอมยาใต้ลิ้นแล้ว หรือมีการเจ็บแน่นหน้าอกแม้ในขณะนั่งพักก็ได้
2. ใจสั่น เหงื่อออกมาก เหนื่อยง่าย
ที่มา โรงพยาบาลวิชัยเวช / โรงพยาบาลศิริราชฯ
ภาพจาก AFP
ที่มาข้อมูล : -