"โรคหัวใจ" เปิด "อาหาร" ที่ควรรับประทาน อะไรบ้างที่ควรหลีกเลี่ยง?

"โรคหัวใจ" เปิด "อาหาร" ที่ควรรับประทาน อะไรบ้างที่ควรหลีกเลี่ยง?

สรุปข่าว

ป่วย "โรคหัวใจ" ต้องรู้! เปิด "อาหาร" ที่ควรรับประทาน และ อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ดูแลตัวเองง่ายๆให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการ


โรคหัวใจ ผู้ป่วยต้องให้ความสำคัญกับการดูแลตนเองในทุกด้านรวมไปถึงด้านอาหารการกินที่ต้องเน้นประโยชน์เพิ่มไขมันดี HDL และหลีกเลี่ยงไขมันไม่ดี LDL หมั่นทานผักผลไม้ที่รสไม่หวานมาก พยายามควบคุมระดับไขมันและคอเลสเตอรอลในเส้นเลือดมากขึ้น เนื่องจากเกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้ป่วยโรคหัวใจ


อาหารที่รับประทานได้


-เนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมันและหนัง


-ปลาทะเล เช่น ปลาทู ปลาทูน่า ปลาแซลมอน ปลาซา์ดีน แนะนำให้รับประทานอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 คร้ัง เพราะน้ำมันจากปลาทะเลช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ ในเลือดและช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจได้
    

-น้ำมันจากพืช ควรใช้ปริมาณที่น้อยๆ เช่่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันงา น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนลา น้ำมันถั่วลิสง เป็นต้น


อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง


-อาหารที่มีคอลเรสเตอรอลสูง เช่น ไข่แดง มันหมู มันไก่ อาหารทะเล ยกเว้นเนื้อปลา น้ำมันจากพืชบางชนิด เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว กะทิ บรรดาของทอด หรือผลิตภัณฑ์จากนม เช่น เนย มาการีน ชีส


-อาหารที่มีไขมันชนิดอิ่มตัว (รับประทานได้ไม่เกิน 10% หรือน้อยกว่าจากพลังงานที่ควรได้รับตลอดวัน) เช่น ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ อาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันสัตว์ (เช่น ไส้กรอก กุนเชียง หมูยอ)
    

-อาหารที่มีไขมันทรานส์ ซึ่งเป็นไขมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจน ทำให้คุณสมบัติของไขมันเปลี่ยนแปลงไป มักพบในครีมเทียม เนยเทียม เนยขาว ขนมกรุบกรอบ คุกกี้ เค้ก และอาหารทอดที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ


ทั้งนี้ จำกัดปริมาณโซเดียมด้วยการหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสเค็มจัด เพราะอาหารที่มีปริมาณโซเดียมมากจะทำให้ความดันโลหิตสูงซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่นำไปสู่โรคหัวใจ สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจควรจำกัดการรับประทานอาหารที่มีโซเดียมวันละ 3,000 มิลลิกรัมหรือน้อยกว่า (เกลือ 1 ช้อนชา=โซเดียม 2,000 มิลลิกรัม) และไม่ควรเติมหรือปรุงรสอาหารขณะรับประทาน หากต้องการเพิ่มรสชาติอาจใช้เครื่องเทศ เช่น ตะไคร้ พริกไทย ใบมะกรูด หรือเพิ่มรสเปรี้ยวจากมะนาว


เพิ่มปริมาณใยอาหาร ด้วยการรับประทานผัก ผลไม้ ถั่วเมล็ดแห้ง ข้าว ขนมปังที่ไม่ผ่านการขัดสี และธัญพืชต่างๆ โดยในแต่ละวันร่างกายต้องการใยอาหารอย่างน้อย 25 กรัม ทั้งนี้ใยอาหารแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่


-ใยอาหารชนิดละลายน้ำ พบในธัญพืช เช่น ข้าวโอ๊ต รำข้าว ถั่วเมล็ดแห้ง ผัก ผลไม้ ใยอาหารชนิดนี้จะช่วยให้ระดับคอเลสเตอรอลและระดับน้ำตาลในเลือดลดลง


-ใยอาหารชนิดไม่ละลายน้ำ พบในธัญพืชและขนมปังที่ไม่ผ่านการขัดสี เช่น ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท ถั่วเปลือกแข็ง ผักและผลไม้บางชนิด ใยอาหารชนิดนี้จะดูดซึมน้ำไว้ช่วยให้การทำงานของระบบลำไส้และการย่อยอาหารมีประสิทธิภาพ

ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีใยอาหารทั้ง 2 ชนิด ด้วยการรับประทานอาหารให้หลากหลายประเภทในปริมาณที่เหมาะสม


  • หลีกเลี่ยงการบริโภคเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลหรือน้ำตาลฟรุกโตส เพราะจะทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดเพิ่มขึ้นและได้รับพลังงานเกิน ถ้าต้องการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ควรเกินวันละ 2 แก้วมาตรฐาน (1 แก้วมาตรฐาน=เบียร์ 285 มล., ไวน์ 120 มล.)  และ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเป็นส่วนผสม เช่น ชา กาแฟ ไม่เกินวันละ 2 - 3 แก้ว

  • รับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidants) อาจสามารถป้องกันและต่อต้านการเกิดโรคหัวใจได้ ซึ่งแหล่งสำคัญของอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่


- วิตามินเอ (แคโรทีน) แครอท แอพริคอท ฟักทอง มะม่วง ผักโขม แคนตาลูป ปวยเล้ง ลูกพีช บรอกโคลี ผักบุ้ง


- วิตามินอี น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอก คำฝอย น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน อัลมอนด์ จมูกข้าวสาลี


- วิตามินซี ส้มเขียวหวาน มะเขือเทศ ส้มเช้ง ฝรั่ง กีวี่ ส้มโอ ถั่วงอก กะหล่ำปลี บรอกโคลี พริก มะนาว



กินกระเทียมช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจได้

เนื่องจากในกระเทียมมีสารชื่อ “อัลลิซิน (Allicin)” ที่สามารถช่วยลดการสะสมคอเลสเตอรอลในเส้นเลือดได้ เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจรวมไปถึงช่วยลดภาวะการแข็งตัวของผู้ป่วยโรคเส้นเลือดอุดตัน โดยการทานกระเทียมต้องทานแบบสด ๆ บดให้ละเอียดประมาณ 5 กรัมหรือ 1 ช้อนชา พร้อมกับตอนทานอาหารวันละ 3 เวลา กระเทียมไม่ควรถูกผัดหรือทอดและไม่ควรทานตอนท้องว่าง




ขอบคุณที่มา ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ / โรงพยาบาลเพชรเวช 

ภาพจาก AFP

ที่มาข้อมูล : -

ที่มารูปภาพ :

แท็กบทความ

หัวใจวายอาหารบำรุงหัวใจโรคหัวใจ
อาหารผู้ป่วยโรคหัวใจ
หัวใจวายเฉียบพลัน
cpr
ภาวะหัวใจวาย
เครื่องกระตุกหัวใจ
อาการหัวใจวายเฉียบพลัน
ปฐมพยาบาลผู้ป่วยโรคหัวใจวาย