

สรุปข่าว
วันนี้ดัชนีความร้อนสูงสุดระดับอันตราย เสี่ยงเกิดโรคฮีทสโตรก แนะเลี่ยงกิจกรรมกลางแดด
จากกรณีที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดหมายค่าดัชนีความร้อนสูงสุดรายวัน 19 พฤษภาคม 2566
- ภาคเหนือ เพชรบูรณ์ ค่าคาดหมายดัชนีความร้อน 48.8 องศาเซลเซียส
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ค่าคาดหมายดัชนีความร้อน 43.9 องศาเซลเซียส
- ภาคกลาง บางนา กทม. ค่าคาดหมายดัชนีความร้อน มากกว่า 54 องศาเซลเซียส
- ภาคตะวันออก ชลบุรี ค่าคาดหมายดัชนีความร้อน 52.3 องศาเซลเซียส
- ภาคใต้ ภูเก็ต ค่าคาดหมายดัชนีความร้อน 48.9 องศาเซลเซียส
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมอนามัย ระบุไว้ว่า ระดับอันตราย 41-53.9 องศาเซลเซียส ผลกระทบต่อสุขภาพ คือ ตะคริวที่น่อง ต้นขา หน้าท้อง หรือไหล่ ทำให้ปวดท้องเกร็ง มีอาการเพลียแดด และอาจเกิดภาวะลมแดดได้หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน
ระดับอันตรายมากมากกว่า 54 องศาเซลเซียส ผลกระทบต่อสุขภาพ คือ เกิดภาวะลมแดด (Heat Stroke)
เสี่ยงโรคลมร้อนหรือโรคฮีทสโตรก หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแดด
อย่างไรก็ตาม กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนสภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงกลางวัน อาจทำให้ประชาชนเจ็บป่วยจากโรคลมแดด หรือโรคฮีตสโตรก (Heat stroke) ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัว หรือควบคุมระดับความร้อนในร่างกายได้ ทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเกิน 40 องศาเซลเซียส ทำให้ตัวร้อน หน้ามืด เพ้อ กระสับกระส่าย หายใจเร็ว มึนงง หัวใจเต้นผิดจังหวะ ชักเกร็ง ช็อก จนถึงขั้นหมดสติ
หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยรัฐบาลห่วงใยประชาชนที่ทำงานกลางแจ้ง แดดแรงจัด อาจช็อกฮีตสโตรก ขอให้ดูแลสุขภาพตนเอง และไม่ประมาทจากการทำงานกลางแจ้ง หลีกเลี่ยงทำกิจกรรมกลางแดดร้อนจัด
จากสภาพอากาศที่ร้อนจัด อาจทำให้ประชาชนป่วยเป็นโรคลมแดด หรือ โรคฮีตสโตรก โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีภาวะอ้วน ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ
ผู้ทำกิจกรรมกลางแดด เช่น เล่นกีฬา ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง เช่น ตำรวจจราจร พนักงานรักษาความปลอดภัย คนสวน กรรมกรก่อสร้าง เกษตรกร ประมง พนักงานงานส่งของ ไรเดอร์ และพนักงานที่ต้องอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน และการอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดผื่น ตะคริวจากความร้อน และหากมีโรคประจำตัว พักผ่อนไม่เพียงพอ จะทำให้เพลีย อาจทำให้เกิดการวูบและพลัดตกจากที่สูงได้
นอกจากนี้ ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก ก็เป็นกลุ่มเสี่ยงเจ็บป่วยจากโรคลมแดด โดยฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะทำให้เส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัวได้มากขึ้น ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่สูงกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม ซึ่งในสภาพอากาศที่ร้อนจัด แอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้รวดเร็ว และออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจให้สูบฉีดเลือดเร็วและแรงขึ้น มีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจต้องทำงานหนักเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย อาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้
ข้อมูลจาก กรมอุตุนิยมวิทยา / กรมอนามัย
ภาพจาก AFP
ที่มาข้อมูล : -