ทั่วไทยอากาศร้อน 29 มี.ค.-6 เม.ย.ระวังพายุฤดูร้อน

นายสมควร ต้นจาน ผู้อำนวยการกองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา เผยว่า ช่วง 23 - 28 มี.ค.68 ท้องฟ้ามีเมฆบางส่วน เมฆฝนมีน้อย แสงแดดเริ่มส่องตรงมากขึ้น อากาศจะเริ่มกลับมาร้อนในช่วงกลางวัน โดยอาจมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ช่วง 25 - 28 มี.ค.68 ประกอบกับจะหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ในระยะนี้ลมอาจเปลี่ยนทิศทางบ้าง โดยลมใกล้ผิวพื้นเปลี่ยนกลับมาเป็นลมทิศใต้ (ลมพัดจากอ่าวไทย) ลมตะวันออกเฉียงใต้ (พัดจากทะเลจีนใต้) พัดปกคลุมภาคอีสานตอนล่าง กลาง ภาคตะวันออก กทม.และปริมณฑล ส่วนลมตะวันตก (พัดจากทางด้านประเทศเมียนมา) พัดปกคลุมภาคเหนือ ภาคกลางด้านตะวันตก ยังมีพายุฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บริเวณภาคใต้ ต้องระวังสุขภาพในช่วงที่อากาศร้อนถึงร้อนจัด หลีกเลี่ยงการทำงานท่ามกลางแสงแดดเป็นเวลานานๆ อาจเกิดโรคลมแดดได้ ระวังเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย ต้องดูแลใกล้ชิด


ทั่วไทยอากาศร้อน 29 มี.ค.-6 เม.ย.ระวังพายุฤดูร้อน

สรุปข่าว

อุตุฯ คาดการณ์ ช่วงวันที่ 23-28 มี.ค.ฝนน้อย อากาศจะกลับมาร้อนถึงร้อนจัดบริเวณไทยตอนบน ส่วนวันที่ 29 มี.ค.-6 เม.ย.มีพายุฤดูร้อน ฝนฟ้าคะนอง มีลมกระโชกแรง ฟ้าผ่า และมีลูกเห็บเกิดขึ้น เริ่มทางภาคอีสาน และภาคตะวันออก ระวังสุขภาพในช่วงที่อากาศร้อนจัด

จากนั้นในช่วง 29 มี.ค.-6 เม.ย.68 มีมวลอากาศเย็นกำลังปานกลาง แผ่ลงมาปกคลุมด้านตะวันออกของภาคอีสาน ประกอบกับประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน และกระแสลมฝ่ายตะวันตกยังพัดปกคลุมภาคเหนือ และลมใต้ ลมตะวันออกเฉียงใต้พัดสอบเข้าหากัน ปกคลุมบริเวณภาคกลาง กทม.และปริมณฑล ทำให้มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นได้โดยเป็นพายุฝนฟ้าคะนอง มีลมกระโชกแรง ฟ้าผ่า และมีลูกเห็บเกิดขึ้นได้ ในระยะแรกๆ เริ่มทางภาคอีสาน (29/3/68) และภาคตะวันออก ส่วนภาคอื่นๆ จะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป ต้องติดตามและเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ฤดูร้อนปีนี้คาดว่าอากาศจะไม่ร้อนแรงเหมือนปีที่แล้ว จะมีฝนฟ้าคะนอง พายุฤดูร้อนมาสลับในบางวัน ต้องระวังพายุฤดูร้อน มาเร็ว แรง อาจสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน แม้ปริมาณในระยะนี้อาจจะไม่มากนัก แต่พอช่วยให้บางพื้นที่มีความชุ่มชื้น คลายร้อนได้ แต่ยังมีบางพื้นที่ที่มีฝนน้อย หากมีฝนตกควรหาภาชนะสำรองน้ำไว้ใช้เพื่ออุปโภคและบริโภค ส่วนน้ำเพื่อการเกษตรอาจยังไม่เพียงพอในฤดูร้อนนี้ (ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ตามข้อมูลนำเข้าและประมวลผลใหม่ ใช้เป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจและติดตามสภาพอากาศ)

ที่มาข้อมูล : กรมอุตุนิยมวิทยา

ที่มารูปภาพ : GettyImages

avatar

กองบรรณาธิการ TNN