"ไส้ติ่งอักเสบ" ปวดท้องแบบไหน? สัญญาณเสี่ยงต้องระวังอันตรายถึงชีวิต

"ไส้ติ่งอักเสบ" ปวดท้องแบบไหน? สัญญาณเสี่ยงต้องระวังอันตรายถึงชีวิต

สรุปข่าว

"ไส้ติ่งอักเสบ" อาการปวดท้องแบบไหน? สัญญาณเสี่ยงต้องระวัง แนะควรรีบไปพบแพทย์ หากเข้าสู่ระยะรุนแรงอันตรายถึงแก่ชีวิต


กรมการแพทย์ เตือนโรคไส้ติ่งอักเสบพบได้ทุกเพศทุกวัย แนะหากมีอาการปวดเฉียบพลัน คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ปัสสาวะบ่อยขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ หากเข้าสู่ระยะรุนแรงไส้ติ่งแตกอันตรายถึงแก่ชีวิต


ไส้ติ่งอักเสบ


ไส้ติ่งอักเสบเป็นโรคที่พบบ่อยสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย ซึ่งไส้ติ่งเป็นอวัยวะที่อยู่ระหว่างลำไส้เล็กตอนปลายและลำไส้ใหญ่ตอนต้น ทำหน้าที่เป็นแหล่งเก็บแบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อระบบทางเดินอาหาร กระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย 

ทั้งนี้ ภาวะการอักเสบในไส้ติ่งเกิดจากการอุดตันภายในไส้ติ่งซึ่งอาจเป็นได้ทั้ง เศษอุจจาระขนาดเล็กที่ทำให้ไส้ติ่งเกิดการติดเชื้อและบวมขึ้น หรือเป็นก้อนเนื้อมะเร็ง หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน

ส่งผลให้ต่อมน้ำเหลืองทั่วร่างกาย รวมทั้งต่อมน้ำเหลืองในไส้ติ่งเกิดปฏิกิริยาตอบสนองด้วยการขยายตัวขึ้นจนไปปิดกั้นไส้ติ่ง ทำให้เกิดอาการอักเสบ เป็นอาการที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและอันตราย 

ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาไส้ติ่งที่อักเสบจะแตก ทำให้เชื้อโรคที่อยู่ในไส้ติ่งสามารถแพร่กระจายไปทั่วร่างกายได้อย่างรวดเร็ว อาจเข้าสู่กระแสเลือดจนทำให้เป็นอันตรายต่อชีวิตได้ 


อาการไส้ติ่งอักเสบ 


อาการเสี่ยงต่อการเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบ ได้แก่ 

- มีอาการปวดอย่างเฉียบพลันที่บริเวณรอบสะดือ 

- ต่อมาย้ายไปปวดที่ท้องด้านล่างขวาเนื่องจากการอักเสบที่ลุกลามมากขึ้น โดยจะมีอาการปวดมากขึ้นขณะที่ไอ เดิน หรือแม้แต่ขยับตัว

- คลื่นไส้ อาเจียน 

- เบื่ออาหาร 

- อาจมีไข้ 

- มีอาการท้องเสีย ท้องผูก หรือท้องอืดร่วมด้วยตลอดจน 

- มีอาการปัสสาวะบ่อยขึ้น เนื่องจากการอักเสบที่มากขึ้นของไส้ติ่งไปกระตุ้นท่อไตของระบบทางเดินปัสสาวะซึ่งอยู่ใกล้กัน

ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคไส้ติ่งอักเสบควรรีบไปพบแพทย์ เนื่องจากหากเข้าสู่ระยะรุนแรงไส้ติ่งที่อักเสบสามารถแตกได้ภายใน 48-72 ชั่วโมงซึ่งจะต้องได้รับการผ่าตัดไส้ติ่งอย่างเร่งด่วน 


การรักษาโรคไส้ติ่งอักเสบ 


สำหรับการผ่าตัดมี 2 ประเภท คือ 

1. การผ่าตัดแบบส่องกล้องในระยะไม่รุนแรง เป็นการผ่าตัดเล็กสามารถกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้ทันที 

2. การผ่าตัดแบบเปิด ในกรณีระยะรุนแรงถึงขั้นไส้ติ่งแตก ซึ่งเป็นผ่าตัดแบบมาตรฐาน เพราะนอกจากจะต้องนำไส้ติ่งที่แตกออกแล้ว ยังต้องทำความสะอาดภายในช่องท้อง และใส่ท่อเพื่อระบายหนองจากฝีที่เกิดขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน 

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันโรคไส้ติ่งอักเสบ เนื่องจากเป็นอาการที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดได้ จึงทำได้แค่เพียงลดความเสี่ยงเท่านั้น โดยป้องกันไม่ให้มีอาการท้องผูกรับประทานผักผลไม้ที่มีไฟเบอร์สูง 

นอกจากนี้ หากพบว่ามีอาการติดเชื้อหรือการอักเสบที่ลำไส้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา เนื่องจากการอักเสบนั้นอาจลุกลามไปถึงไส้ติ่งได้เช่นกัน


ข้อมูลจาก กรมการแพทย์

ภาพจาก AFP

ที่มาข้อมูล : -

ที่มารูปภาพ :

แท็กบทความ

ไส้ติ่งอักเสบ
ไส้ติ่ง
ปวดท้องไส้ติ่ง
อาการปวดท้อง
ปวดท้องไส้ติ่งอักเสบ
ไส้ติ่งอักเสบ อาการ
อาการปวดท้องไส้ติ่ง