!["ไส้ติ่งอักเสบ" อันตรายถึงชีวิต ปวดท้องแบบไหนควรพบแพทย์? เช็คที่นี่](/static/images/73023555-c440-4ef1-8064-0fc34624717d.jpg)
!["ไส้ติ่งอักเสบ" อันตรายถึงชีวิต ปวดท้องแบบไหนควรพบแพทย์? เช็คที่นี่](/static/images/73023555-c440-4ef1-8064-0fc34624717d.jpg)
สรุปข่าว
อาการปวดท้องมีได้จากหลายสาเหตุ แต่หากเป็นการปวดท้องแบบฉับพลันที่พบได้บ่อยที่สุด มักมีต้นเหตุมาจากการที่ “ไส้ติ่งอักเสบ”
โดยไส้ติ่งอักเสบนี้ สามารถพบได้ในคนทุกเพศ และทุกช่วงวัย อาการที่แสดงออกในช่วงแรกมีความใกล้เคียงกับอาการปวดท้องเฉียบพลันทั่วๆไป ทำให้บ่อยครั้งผู้ป่วยมักชะล่าใจ และไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง ทำให้อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นวันนี้เราจึงอยากพาทุกคนมารู้จัก “ไส้ติ่งอักเสบ” อักเสบให้มากขึ้นในบทความนี้…
ไส้ติ่ง คืออะไร?
ไส้ติ่ง เป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของระบบทางเดินอาหาร มีลักษณะเป็นท่อตันแยกมาจากลำไส้ใหญ่ส่วนต้น บริเวณท้องน้อยด้านขวา สำหรับหน้าที่ของมันยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าอาจเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน และการสะสมเชื้อแบคทีเรียที่มีหน้าที่ช่วยในระบบย่อยอาหาร
ไส้ติ่งอักเสบ เกิดจากอะไร?
จากการศึกษาพบว่า การอักเสบของไส้ติ่ง (Appendicitis) เป็นผลมาจากการที่รูท่อของไส้ติ่งเกิดการอุดตัน ซึ่งเกิดได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจากการกินอาหารเข้าไป แล้วกลายเป็นอุจจาระแข็งตัว หรือภาวะต่อมน้ำเหลืองโตที่บริเวณดังกล่าว ทำให้เกิดแรงดันในไส้ติ่งปริมาณมาก มีการสะสมของแบคทีเรียและเกิดการอักเสบขึ้น
ไส้ติ่งอักเสบ มีอาการอย่างไร?
ระยะที่ 1: ไส้ติ่งเริ่มมีการอุดตัน ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้อง มีอาการเบื่ออาหาร และอาการจุกแน่นตามมา ตำแหน่งที่ปวดมักจะอยู่บริเวรรอบๆ สะดือ
ระยะที่ 2: ไส้ติ่งบวมขึ้น เนื่องจากเชื้อโรคขยายลุกลามถึงชั้นนอกของไส้ติ่ง มีอาการปวดท้องมากขึ้นในเวลาไม่กี่ชั่วโมง บางรายไม่เกิน 1 – 2 วัน และจะย้ายตำแหน่งมาปวดที่ท้องน้อยด้านขวาแทน
ระยะที่ 3: เมื่อปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษาหรือไม่ได้รับการผ่าตัดออก ไส้ติ่งอักเสบจะแตกกระจายในช่องท้อง (กรณีนี้มักพบได้บ่อยประมาณ 20%) เกิดผลข้างเคียง แทรกซ้อนตามมาได้ 2 แบบ คือ
1. ร่างกายสร้างเนื้อเยื่อห่อหุ้มไส้ติ่งที่แตกไว้ เกิดเป็นฝีในช่องท้อง ทำให้คลำพบก้อน มีอาการเจ็บที่ท้องน้อย และมีไข้ร่วมด้วย
2. เชื้อโรคและหนองจากการที่ไส้ติ่งแตก เกิดการแพร่กระจายไปทั่วเยื่อบุช่องท้อง อาจเข้ากระแสเลือด ซึ่งอันตรายถึงสามารถทำให้เสียชีวิตได้
ที่มาข้อมูล : โรงพยาบาลบางกอก , โรงพยาบาลพญาไท
ที่มาภาพ : freepik/stefamerpik
ที่มาข้อมูล : -