

สรุปข่าว
วันนี้( 15 ก.ย.65) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ที่ผ่านมาการเข้มข้นมาตรการส่วนบุคคล ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และเว้นระยะห่าง ในการป้องกันโรคโควิด 19 ส่งผลให้โรคติดต่อทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ มีการแพร่ระบาดลดลงด้วย
แต่ขณะนี้เริ่มพบว่า "โรคไข้หวัดใหญ่" มีแนวโน้มการระบาดเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากตามปกติแล้วช่วงฤดูฝน ตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมา เป็นช่วงการแพร่ระบาดตามฤดูกาลของโรคไข้หวัดใหญ่ จึงมีโอกาสพบผู้ป่วยจำนวนมากได้อยู่แล้ว ประกอบกับหลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 หลายคนลดความเคร่งครัดในการสวมหน้ากากอนามัย มีกิจกรรมที่มีคนรวมตัวกันและไม่สวมหน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้น เช่น งานเลี้ยงสังสรรค์ รับประทานอาหาร ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกัน ทำให้มีโอกาสที่โรคติดต่อทางเดินหายใจ อย่างโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มมากขึ้น
สาเหตุที่ทำให้ผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโควิด 19 ลดลงต่อเนื่อง เป็นเพราะช่วงที่ผ่านมามีการระบาดในวงกว้าง ทำให้คนไทยมีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อ และยังมีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 90% ทำให้มีภูมิคุ้มกันหมู่ สำหรับการลดการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ สามารถทำได้ด้วยการเร่งตรวจคัดกรอง เฝ้าระวัง และเข้ารับบริการฉีดวัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง
ซึ่งกรมควบคุมโรคร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดหาวัคซีนไข้หวัดใหญ่บริการให้ฟรีเพื่อช่วยลดอาการหนักและเสียชีวิตในกลุ่มเสี่ยง
รวมถึงหากยังเข้มมาตรการป้องกันตนเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัย จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยป้องกันได้ทั้งโรคโควิด 19 และโรคไข้หวัดใหญ่
โรค "ไข้หวัดใหญ่" เป็นอย่างไร กรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลดังนี้
ลักษณะโรค
-เป็นการติดเชื้อไวรัสที่ระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน โดยมีลักษณะทางคลินิกที่สำคัญคือ มีไข้สูงแบบทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่สำคัญที่สุดโรคหนึ่งในกลุ่มโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ เนื่องจากเกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลก (pandemic) มาแล้วหลายครั้ง แต่ละครั้งเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางเกือบทุกทวีป ทำให้มีผู้ป่วยและเสียชีวิตนับล้านคน
วิธีการติดต่อ
-เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ติดต่อทางการหายใจ โดยจะได้รับเชื้อที่ออกมาปนเปื้อนอยู่ในอากาศเมื่อผู้ป่วยไอ จาม หรือพูด ในพื้นที่ที่มีคนอยู่รวมกันหนาแน่น เช่น โรงเรียน โรงงาน การแพร่เชื้อจะเกิดได้มาก นอกจากนี้การแพร่เชื้ออาจเกิดโดยการสัมผัสฝอยละอองน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย (droplet transmission) จากมือที่สัมผัสกับพื้นผิวที่มีเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ แล้วใช้มือสัมผัสที่จมูกและปาก
ระยะฟักตัว
-ประมาณ 1-3 วัน
ระยะติดต่อ
-ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่ 1 วันก่อนมีอาการและจะแพร่เชื้อต่อไปอีก 3-5 วันหลังมีอาการในผู้ใหญ่ ส่วนในเด็กอาจแพร่เชื้อได้นานกว่า 7 วัน ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่แต่ไม่มีอาการก็สามารถแพร่เชื้อในช่วงเวลานั้นได้เช่นกัน
การวินิจฉัยแยกโรค
-ไข้หวัดใหญ่จากเชื้ออื่นโดยอาศัยลักษณะทางคลินิกอย่างเดียวทำได้ยาก เชื้ออื่นๆที่ทำให้เกิดอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ Mycoplasma pneumoniae, adenovirus, respiratory syncytial virus (RSV), rhinovirus, parainfluenza virus, และ Legionella spp.
การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค
-ตรวจพบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในเสมหะที่ป้ายหรือดูดจากจมูกหรือลำคอ หรือ
-ตรวจพบแอนติเจนของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ใน epithelial cell จาก nasopharyngeal secretion โดยวิธี fluorescent antibody หรือ
-ตรวจพบว่ามีการเพิ่มขึ้นของระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อในซีรั่มอย่างน้อย 4 เท่าในระยะเฉียบพลันและระยะพักฟื้น โดยวิธี haemaglutination inhibition (HI) ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐาน หรือ complement fixation (CF) หรือ Enzyme - linked immunosorbent assay (ELISA)
ที่มา กระทรวงสาธารณสุข / กรมควบคุมโรค
ภาพจาก รอยเตอร์
ที่มาข้อมูล : -