
วงการเพลงลูกทุ่งไทยสูญเสีย "ผ่องศรี วรนุช" ราชินีลูกทุ่งคนแรกของไทย เสียชีวิตอย่างสงบที่บ้านพักในวัย 85 ปี หลังต่อสู้โรคปอดมาอย่างยาวนาน
ผ่องศรี วรนุช ศิลปินแห่งชาติ เสียชีวิตอย่างสงบในวัย 85 ปี หลังป่วยด้วยโรคปอด
วงการเพลงลูกทุ่งไทยต้องสูญเสียบุคคลสำคัญอีกครั้ง เมื่อ "แม่ผ่อง" ผ่องศรี วรนุช ศิลปินแห่งชาติ และราชินีลูกทุ่งคนแรกของเมืองไทย ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบเมื่อช่วงเช้าวันนี้ (6 เมษายน 2568) เวลา 08.28 น. ณ บ้านพัก หลังจากต่อสู้กับโรคปอดและเข้าออกโรงพยาบาลเป็นระยะตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ ผ่องศรีเคยมีอาการทรุดหนักจนร่างกายซูบผอม เหลือน้ำหนักไม่ถึง 20 กิโลกรัม แต่เมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา เธอมีอาการดีขึ้นประมาณ 70% แพทย์จึงอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลมาพักฟื้นที่บ้าน เสียงพูดกลับมาสดใส แต่ยังงดให้ญาติและแฟนคลับเข้าเยี่ยมเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน อย่างไรก็ตาม ข่าวเศร้าเช้าวันนี้ทำให้คนในวงการและผู้ที่รักผ่องศรีต่างอาลัยอย่างสุดซึ้ง

สรุปข่าว
ย้อนประวัติ “ผ่องศรี วรนุช” ราชินีลูกทุ่งคนแรกของไทย
ผ่องศรี วรนุช เกิดเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2482 เป็นบุตรีของนายฉาก และนางเล็ก วรนุช ด้วยฐานะครอบครัวที่ยากจน เธอเริ่มต้นชีวิตในวงการบันเทิงจากการเป็นเด็กรับใช้ในคณะละครเร่ “หนู สุวรรณประกาศ” ก่อนจะมีโอกาสได้ร้องเพลงสลับฉาก และค่อย ๆ ก้าวขึ้นมาเป็นนางเอก
ในปี พ.ศ. 2498 ผ่องศรีได้บันทึกเสียงเพลงแรก “หัวใจไม่มีใครครอง” จนในปี พ.ศ. 2502 เธอก็กลายเป็นที่รู้จักทั่วประเทศจากการร้องเพลง “ไหนว่าไม่ลืม” ร่วมกับ สุรพล สมบัติเจริญ ส่งให้เธอได้รับฉายา “ราชินีลูกทุ่ง” อย่างเป็นทางการ
ผลงานที่เป็นตำนาน
ผ่องศรีมีผลงานเพลงลูกทุ่งที่กลายเป็นบทเพลงอมตะ เช่น
- ด่วนพิศวาส
- กอดหมอนนอนหนาว
- น้ำตาเมียหลวง
- คืนนี้พี่นอนกับใคร
- สาวเหนือเบื่อรัก
- ฝากดิน
- ภูเก็ต
- คนสุดท้าย
- ข้าวคอยเคียว
นอกจากนี้เธอยังเป็นแรงบันดาลใจให้นักร้องลูกทุ่งหญิงรุ่นหลังมากมาย เช่น พุ่มพวง ดวงจันทร์, สุนารี ราชสีมา, ศิรินทรา นิยากร
เกียรติยศและรางวัล
รางวัลพระราชทานแผ่นเสียงทองคำ 2 ครั้ง
- รางวัลเสาอากาศทองคำ 3 ปีซ้อน
- ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2535 สาขาศิลปะการแสดง (เพลงลูกทุ่ง)
- ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นจตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.)
- รางวัลเกียรติยศจากสมเด็จพระเทพฯ ในฐานะศิลปินที่ใช้ภาษาไทยถูกต้อง
ชีวิตส่วนตัวและบั้นปลาย
เธอเคยใช้ชีวิตร่วมกับ วัลลภ วิชชุกร, เทียนชัย สมยาประเสริฐ และสุดท้ายกับ ราเชนทร์ เรืองเนตร นักดนตรีชื่อดังซึ่งเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2541 ไม่มีทายาท โดยในบั้นปลายชีวิต ผ่องศรีได้อุทิศตนให้กับงานการกุศล และเปิด พิพิธภัณฑ์ผ่องศรี วรนุช ที่พุทธมณฑลสาย 5 ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาและระลึกถึงคุณูปการของเธอ
ที่มาข้อมูล : กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม
ที่มารูปภาพ : กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม

ยศไกร รัตนบรรเทิง
เบน
บรรณาธิการออนไลน์