บริษัทวิจัยข้อมูลแอปพลิเคชัน “เซ็นเซอร์ ทาวเวอร์” (Sensor Tower) ระบุว่า “ดีปซีค” (DeepSeek) แอปพลิเคชันผู้ช่วยที่ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของจีน ขึ้นแท่นเป็นแอปฯ ฟรีที่มีคะแนนสูงสุดบน “แอป สโตร์” ในสหรัฐฯ แซงหน้า “แชตจีพีที” (ChatGPT) ของค่าย “โอเพนเอไอ” (OpenAI) โดยล่าสุดขับเคลื่อนด้วย 2 โมเดลที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ทั้ง DeepSeek V3 และ DeepSeek R1 ที่เพิ่งเปิดตัวไล่เลี่ยกัน เทียบเคียงได้กับโมเดลทันสมัยสุดของ OpenAI และ “เมตา แพลตฟอร์มส์”
DeepSeek สร้างปรากฏการณ์ระดับโลกในชั่วข้ามคืน ทั้งที่ก่อนหน้านั้นแทบจะไม่มีใครรู้จักแอปพลิเคชัน AI จากจีนรายนี้ที่ก่อตั้งมาได้เพียง 1 ปี ขณะเดียวกันก็สร้างแรงสั่นสะเทือนต่ออุตสาหกรรม AI โลก สะท้อนจากการที่หุ้นบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ ร่วงลงอย่างหนัก และยังพลิกมุมมองของนักลงทุนเกี่ยวกับศักยภาพด้านเทคโนโลยีของจีนที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางความท้าทายจากมาตรการสกัดการส่งออกชิปขั้นสูงของสหรัฐฯ
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังยอมรับว่า การที่ DeepSeek จากจีนได้รับความนิยมอย่างล้นหลามน่าจะเป็นสัญญาณเตือนสำหรับบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ถึงแม้เขาจะต้องการให้สหรัฐฯ เป็นผู้นำด้าน AI ต่อไป แต่ DeepSeek ก็เป็นความท้าทายที่ไม่อาจมองข้าม และต้องให้ความสำคัญกับการแข่งขันมากขึ้น
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวร่วงลงอย่างมากหลังมีกระแสข่าว DeepSeek เนื่องจากนักลงทุนพากันเทขายหุ้นท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับศักยภาพของบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ ที่ใช้เม็ดเงินสูงกว่ามากเมื่อเทียบกับ AI จากจีน ส่งผลให้มูลค่าตลาด (market cap) หายไปกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ท่ามกลางความตื่นตระหนกเกี่ยวกับการผงาดขึ้นมาของแอปพลิเคชัน AI น้องใหม่ที่พัฒนาโดยสตาร์ตอัปจีน
ดัชนี S&P 500 ลดลงเกือบร้อยละ 1.5 ขณะที่ดัชนีแนสแด็ก คอมโพสิต (Nasdaq Composite) ที่เน้นหุ้นเทคโนโลยี ปรับตัวร่วงลงมากกว่าร้อยละ 3 สำหรับหุ้นที่ได้รับผลกระทบหนักสุด คือ “อินวิเดีย” (Nvidia) ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของสหรัฐฯ ที่ราคาหุ้นดิ่งลงเกือบร้อยละ 17 ส่งผลให้มูลค่าตลาดของบริษัทหายไปถึง 5.89 แสนล้านดอลลาร์ เหลือ 2.9 ล้านล้านดอลลาร์ นับเป็นการสูญเสียมูลค่าตลาดในวันเดียวมากสุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ และทำให้สูญเสียตำแหน่งบริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดของโลกให้แก่ “แอปเปิล”
นอกจากนี้ ยังมีหุ้นของบริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่ปรับลดลง ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตชิปอย่าง “บรอดคอม” (Broadcom) ร่วงร้อยละ 17 และ “ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟกเจอริง” (TSMC) ลดลงร้อยละ 12 ส่วนหุ้นบิ๊กเทค “ไมโครซอฟท์” ลดลงร้อยละ 2 และ “อัลฟาเบต” ร่วงร้อยละ 4 // ผลกระทบยังขยายวงกว้างไปไกลถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อาทิ “ซีเมนส์ เอเนอร์ยี” ซึ่งจัดหาฮาร์ดแวร์สำหรับโครงสร้างพื้นฐาน AI ร่วงลงร้อยละ 20 ด้าน “ชไนเดอร์ อิเล็กทริก” (Schneider Electric) ผู้ผลิตไฟฟ้าของฝรั่งเศสที่ลงทุนอย่างหนักในบริการสำหรับศูนย์ข้อมูล ราคาหุ้นร่วงลงร้อยละ 9.5 เนื่องจาก DeepSeek ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ปรากฏการณ์ DeepSeek ยังฉุดราคาน้ำมันให้ลดลงในวันจันทร์ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความต้องการพลังงานในการจ่ายพลังงานให้กับศูนย์ข้อมูลที่อาจลดลง ซ้ำเติมปัจจัยเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว และมาตรการภาษี “ทรัมป์ 2.0” ที่อาจกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยราคาน้ำมันดิบเบรนต์สัญญาส่งมอบล่วงหน้าแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม ส่วนน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม // นอกจากนี้ ยังกระทบชิ่งถึงราคาทองคำที่ร่วงลงกว่าร้อยละ 1 มากสุดนับตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม เนื่องจากนักลงทุนแห่ขายทองคำเพื่อชดเชยการขาดทุนที่เกิดจากหุ้นเทคโนโลยีที่ร่วงลงอย่างหนัก
การผงาดขึ้นมาสู่เวทีโลกของ DeepSeek R1 หลัก ๆ มาจากความสามารถที่ใกล้เคียงกับ “โอเพนเอไอ โอวัน” (OpenAI O1) อย่างคณิตศาสตร์ระดับยาก (AIME 2024) DeepSeek ได้คะแนน 79.8 มากกว่า ChatGPT ที่ 79.2 // ส่วนทักษะการเขียนโปรแกรม (Codeforces) DeepSeek ได้คะแนน 96.3 และ ChatGPT มีคะแนน 96.6 // และการทดสอบความสามารถในวิชาเคมี ฟิสิกส์ และชีววิทยา (GPQA diamond) DeepSeek ได้คะแนน 71.5 ตามหลัง ChatGPT ที่มีคะแนน 75.7
ในส่วนของการใช้งานแชตบอต ผลงานของ ChatGPT ยังคงโดดเด่นในเรื่องการสนทนาหรือการทำงานสร้างสรรค์ รวมถึงข้อมูลข่าวและเหตุการณ์ปัจจุบัน แต่ DeepSeek ทำได้เหนือกว่าสำหรับงานทางเทคนิค อย่างการใช้แชตบอตสำหรับความคิดเชิงตรรกะ การเขียนโค้ด หรือสมการทางคณิตศาสตร์ // แม้ความสามารถของ DeepSeek และ ChatGPT จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน แต่ก็ DeepSeek เปิดให้ใช้งานฟรีเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ผู้ใช้ ChatGPT อาจต้องสมัครใช้งานในราคาเดือนละ 20 ดอลลาร์ // นอกจากนี้ DeepSeek ยังเป็นแอปพลิเคชันแบบเปิด (โอเพนซอร์ส) แตกต่างจากค่ายบิ๊กเทคอื่น ๆ ที่เป็นระบบปิด // ขณะที่จุดอ่อนของ DeepSeek อยู่ที่การเซ็นเซอร์ตัวเองจากคำถามที่อ่อนไหวเกี่ยวกับจีน
อีกเรื่องหนึ่งที่ DeepSeek ของจีนโดดเด่นกว่าอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับ ChatGPT และ AI จากค่ายอื่น ๆ นั่นคือต้นทุนที่ต่ำกว่ามาก โดยโมเดล DeepSeek V3 ใช้ชิป H800 ของ “อินวิเดีย” (Nvidia) สำหรับฝึก AI โดยมีค่าใช้จ่ายไม่ถึง 6 ล้านดอลลาร์ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่าน่าจะเป็นเงินที่ใช้ไปกับขุมพลังการประมวลผล มากกว่าค่าใช้จ่ายในการพัฒนาทั้งหมดที่น่าจะสูงกว่านั้น แต่ก็น่าจะน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์หรือหลายพันล้านดอลลาร์ที่บริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ ใช้จ่ายไปกับการพัฒนา AI ยกตัวอย่าง “เมตา แพลตฟอร์มส์” ที่ระบุว่าอาจต้องใช้เงินกว่า 6.5 หมื่นล้านดอลลาร์ สำหรับการพัฒนา AI ในปีนี้ ส่วน “ไมโครซอฟท์” จัดสรรงบราว 8 หมื่นล้านดอลลาร์สำหรับ AI ในปีงบการเงินปัจจุบัน
UBS ประเมินว่า การลงทุนด้าน AI ของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อเมริกันน่าจะมีมูลค่ารวมกันอยู่ที่ 2.24 แสนล้านดอลลาร์ ในปี 2567 และคาดว่าน่าจะเพิ่มขึ้นแตะ 2.8 แสนล้านดอลลาร์ในปีนี้ ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว OpenAI และซอฟต์แบงก์ ประกาศแผนลงทุนราว 5 แสนล้านดอลลาร์ สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI ในช่วง 4 ปีข้างหน้า
ผลงานที่โดดเด่นและมีพัฒนาการที่รวดเร็วของ DeepSeek ทั้งที่ใช้ต้นทุนต่ำกว่ามาก ทำให้นักลงทุนตั้งคำถามถึงความเป็นผู้นำของบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ รวมถึงจำนวนเงินมหาศาลที่ใช้จ่ายไปกับการพัฒนา AI ซึ่งไม่แน่ว่าจะนำไปสู่การทำกำไร หรือจะลงเอยที่การใช้จ่ายเกินตัว ขณะเดียวกัน ก็พลิกมุมมองเกี่ยวกับความสามารถด้าน AI ของจีน ท่ามกลางความท้าทายจากมาตรการควบคุมการส่งออกชิปขั้นสูงของสหรัฐฯ เพื่อลดทอนความสามารถด้าน AI ของจีน ซึ่งอาจไม่ได้ผลตามที่สหรัฐฯ คาดหวัง
ทั้งนี้ โมเดล AI ไม่ว่าจะเป็น ChatGPT ไปจนถึง DeepSeek ต่างก็ต้องใช้ชิปขั้นสูงเพื่อฝึกอบรม AI ให้ฉลาดขึ้น ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2564 รัฐบาลสหรัฐฯ ในยุคอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศมาตรการห้ามส่งออกชิปทันสมัย รวมถึงชิปที่ใช้ในการฝึกอบรมโมเดล AI ไปยังจีนหลายระลอก ดังนั้น การที่ DeepSeek ใช้ชิปที่ใช้มีขุมพลังน้อยกว่าผลิตภัณฑ์ชิปขั้นสูงรุ่นอื่น ๆ ของ “อินวิเดีย” เพราะรัฐบาลสหรัฐฯ พยายามสกัดดาวรุ่ง ประกอบกับต้นทุนการฝึกอบรมที่ค่อนข้างถูกกว่าของจีน ทำให้เกิดคำถามถึงประสิทธิภาพของมาตรการควบคุมการส่งออกเทคโนโลยีของรัฐบาลสหรัฐฯ
ความสำเร็จของ DeepSeek แสดงให้เห็นว่า คู่แข่งสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ได้ แม้จะเผชิญข้อจำกัด เนื่องจากความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของจีนในด้าน AI และเซมิคอนดักเตอร์ กำลังเปลี่ยนแปลงสมดุลของอำนาจ และการที่สหรัฐฯ ใช้มาตรการจำกัดการเข้าถึงชิปขั้นสูงของจีน กลับกระตุ้นให้จีนหันมาพึ่งพาตนเองมากขึ้นและเร่งให้เกิดนวัตกรรมได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งไม่ใช่แค่นวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากการผลักดันของรัฐบาลจีนเพียงอย่างเดียว
แต่ขณะนี้ยังมีข้อมูลน้อยมากเกี่ยวกับบริษัทที่อยู่เบื้องหลัง DeepSeek ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ตอัปจีนขนาดเล็กที่มีฐานดำเนินงานอยู่ในหางโจว ก่อตั้งขึ้นในเดือนพฤษภาคม ปี 2566 โดย “เหลียง เหวินเฟิง” ซึ่งร่วมก่อตั้งกองทุนป้องกันความเสี่ยง “ไฮ-ฟลายเออร์” (High-Flyer) เพื่อปัญญาประดิษฐ์ทั่วไป (Artificial General Intelligence-AGI) และ DeepSeek ก็เปิดตัวในช่วงปลายปีเดียวกัน และ DeepSeek เป็นรายแรกที่ได้รับการยอมรับในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ท่ามกลางบริษัทเทคโนโลยีจีนหลายสิบแห่ง ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ที่ต่างพัฒนา AI ในเวอร์ชั่นของตัวเอง
ความสำเร็จของ DeepSeek ได้รับการจับตามองในแวดวงการเมืองของจีนแล้ว โดยในวันเปิดตัว DeepSeek R1 เมื่อวันที่ 20 มกราคม “เหลียง” ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมแบบปิดสำหรับนักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญที่จัดโดยนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียงของจีน
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า ผลงานที่โดดเด่นของ DeepSeek ในครั้งนี้ อาจไม่เพียงพอที่จะกล่าวอ้างถึงการเป็นผู้นำแทนที่สหรัฐฯ ได้อย่างสิ้นเชิง แต่ต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ความสามารถของ DeepSeek เพราะสหรัฐฯ มีแต้มต่อในการบุกเบิกด้าน AI รวมทั้งมีจำนวนบุคลากรทักษะสูงและฐานทุนจำนวนมาก การที่ใครจะมาแทนที่จึงไม่ใช่เรื่องง่าย
ความสามารถด้านเทคโนโลยีของจีนกำลังเป็นที่จับตาของทั่วโลก โดย DeepSeek เป็นแอปฯ จีนล่าสุดที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ โดยในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวอเมริกันหันมาใช้แอปฯ จีนเพิ่มขึ้น อาทิ “เสี่ยวหงชู” (Xiaohongshu) หรือหนังสือปกแดง (RedNote) และ “เลมอนเอท” (Lemon8) ซึ่งเป็นทางเลือกแทนแอปฯ คลิปวิดีโอสั้น “ติ๊กต็อก” (TikTok) ที่เสี่ยงถูกแบนในสหรัฐฯ จากเหตุผลด้านความมั่นคง
จีนใช้ประโยชน์จากความสามารถด้านการผลิตที่สั่งสมมาหลายทศวรรษเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ พลังงานหมุนเวียน ยานยนต์ไฟฟ้า และ AI การเติบโตของ DeepSeek สะท้อนเส้นทางการขยายอาณาจักรของบริษัทต่าง ๆ เช่น หัวเว่ย และไบต์แดนซ์ บริษัทแม่ของ TikTok ซึ่งเปลี่ยนจากการเลียนแบบสินค้าขยับสู่ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมระดับโลก โดยจีนเป็นผู้นำด้านสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับ AI รวมถึงมีบัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์มากที่สุดประเทศหนึ่ง นอกจากนี้ เศรษฐกิจดิจิทัลของจีนยังมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 40 ของ GDP ที่ขับเคลื่อนด้วยยักษ์ใหญ่อี-คอมเมิร์ซอย่าง “อาลีบาบา” และ JD.com
ขณะเดียวกัน ความสำเร็จของ DeepSeek ก็ทำให้บรรดาคู่แข่งในจีนเผชิญแรงกดดันในการอัปเกรดโมเดล AI ของตนเอง ล่าสุด “อาลีบาบา” บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน ประกาศเปิดตัวโมเดล AI รุ่นใหม่ “เฉียนเหวิน 2.5” หรือ “เควน 2.5” (Qwen 2.5) โดยอ้างว่ามีประสิทธิภาพสูงกว่า AI แบบโอเพนซอร์ส ทั้ง DeepSeek-V3 รวมถึง GPT-โฟร์โอ (GPT-4o) ของค่าย OpenAI และลามา-3.1-405B (Llama-3.1-405B) ของค่ายเมตา แพลตฟอร์มส์
การเปิดตัวของอาลีบาบาครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ไม่ปกติ เนื่องจากเป็นวันแรกของเทศกาลหยุดยาวช่วงตรุษจีนที่คนส่วนใหญ่หยุดงานและอยู่กับครอบครัว สะท้อนแรงกดดันจาก DeepSeek ที่ไม่ใช่แค่เขย่าแวดวง AI ในต่างประเทศ แต่ยังรวมถึงในจีนด้วย
“ไบต์แดนซ์” บริษัทแม่ของ “ติ๊กต็อก” (TikTok) ก็เพิ่งเปิดตัวโมเดล AI เวอร์ชันใหม่ “โต้วเป่า 1.5 โปร” (Doubao-1.5-pro) ที่อ้างว่าทำผลงานได้ดีกว่า “โอวัน” (o1) ของ OpenAI ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก “ไมโครซอฟท์” หลังการเปิดตัว DeepSeek-R1 เพียง 2 วัน
สรุปข่าว
ที่มาข้อมูล : Reuters, CNN, CNBC, FT, Asia Times
ที่มารูปภาพ : TNN