คุณ จีรวัฒน์ ตั้งบวรพิเชฐ ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการสร้างแบรนด์องค์กรนายจ้าง บริษัท เวิร์คเวนเจอร์ เทคโนโลจีส์ จำกัด ให้มุมมองว่า ปัจจุบัน องค์กรธุรกิจหันมาสร้างแบรนด์องค์กรกันอย่างจริงจังมากขึ้น เห็นได้จากการใช้งบประมาณในการสื่อสารการสร้างแบรนด์องค์กร มีเม็ดเงินเติบโตขึ้นต่อเนื่องทุกปี ซึ่งปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตไม่กว่าร้อยละ 50 และคาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะเติบโตขึ้นต่อเนื่อง
ซึ่งการที่องค์กรธุรกิจหันมาสร้างแบรนด์มากขึ้นนี้ เพราะต้องเจอกับแรงกดดันหลายด้าน เช่น แนวโน้มจำนวนประชากรลดลง และบางสายงานมีความต้องการสูง ทำให้มีแรงกดดันเพิ่มขึ้นในเรื่องการหาคน และรักษาคนทำงานไว้ หากนับตามการอายุเกษียณที่ 60 ปี ทำให้ปี 2568 ถือเป็นปีที่หมดยุคของคนทำงานรุ่น เบบี้ บูเมอร์ (Baby Boomer) ไปแล้ว และกำลังเข้าสู่ ปรากฏการณ์ใหม่ที่เรียกว่า เอ็กวายแซด (XYZ) ที่หมายถึงการทำงานร่วมกันในองค์กรของคน 3 เจน คือเจน เอ็กซ์, เจน วาย และเจน ซี
โดย เจน เอ็กซ์ และ เจน วาย จะเป็นคนกลุ่มใหญ่ในที่ทำงาน แต่เจน ซี ก็กำลังเข้าสู่โลกของการทำงานมากขึ้น ซึ่งคนรุ่นใหม่ จะมาพร้อมกับชุดความคิดใหม่ ๆ ดังนั้น องค์กรธุรกิจจึงต้องหันมาทบทวนและสร้างคุณค่าใหม่ ๆ ขององค์กร เพื่อให้เหมาะสมกับคนทำงานในองค์กรด้วย
สรุปข่าว
มาดูว่าคนรุ่นใหม่ใส่ใจกับเรื่องอะไรมากที่สุด และปัจจัยอะไรที่จะเป็นตัวตัดสินใจของการอยู่ต่อ
ก่อนที่คนรุ่นใหม่ จะเลือกทำงานในองค์กรธุรกิจ จากผลสำรวจพบว่า เรื่องของผลตอบแทนยังเป็นปัจจัยหลักในการพิจารณา โดยอันดับ 1 คือ เงินเดือน และอันดับ 2 เป็นเรื่องของสวัสดิการ แต่ปัจจัยที่มาแรงและเติบโต กลับเป็นเรื่องของ ความก้าวหน้าในสายงาน และ ความสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวจะเห็นได้ว่า โอกาสการเติบโตและความก้าวหน้าในสายอาชีพ อยู่อันดับที่ 3 ส่วนอันดับ 4 เป็นเรื่องของความมั่นคงในการทำงาน และเรื่องของ เวิร์ก ไลฟ์ บาลานซ์ (work/Life Balance) หรือความสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว อยู่อันดับที่ 5
ส่วนอันดับ 6 ถึง 10 คือ สถานที่ทำงาน, การทำงานร่วมกันเป็นทีม, ความเป็นมืออาชีพขององค์กรธุรกินนั้น ๆ ถัดมาคือ การเคารพ ให้เกียรติ และเข้าอกเข้าใจกัน และสุดท้ายคือ เรื่องของ วัฒนธรรมองค์กร
แต่เมื่อทำงานแล้ว คนทำงานรุ่นใหม่จะให้ความสำคัญกับเรื่องใด เพื่อตัดสินใจว่า จะอยู่ต่อ หรือ พอแค่นี้ ซึ่งจากผลสำรวจมีความแตกต่างกันอยู่บ้างกับปัจจัยก่อนเข้าทำงาน แต่ 2 อันดับแรกยังเหมือนกัน ซึ่งเรื่องหลักคือ รายได้ และสวัสดิการ
ส่วนอันดับ 3 กลับให้ความสำคัญกับ สถานที่ทำงาน สะท้อนว่าเรื่องสถานที่ มีอิทธิพลต่อคนทำงานมากขึ้น พวกเขาให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมที่คนทำงานใช้เวลาในการทำงาน รวมถึงสถานที่ตั้ง สิ่งอำนวยความสะดวกและบรรยากาศ ความปลอดภัย แรงบันดาลใจ รวมไปถึงความยืดหยุ่นและความหลากหลายเหมาะสมกับลักษณะงาน
เรื่องความก้าวหน้าในสายงานอาชีพ ลงมาอยู่ในอันดับ 4 และอันดับ 5 คือ ความสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว อันดับ 6 คือเรื่อง ความมั่นคงในการทำงาน อันดับ 7 การทำงานร่วมกันเป็นทีม อันดับ 8 การให้ความเคารพและเข้าอกเข้าใจกัน มาที่อันดับ 9 เรื่องสภาพแวดล้อมที่สร้างสรรค์ และความคล่องตัว และสุดท้ายอันดับ 10 คือเรื่องการสื่อสาร (คอมมูนิเคชัน)
นอกจากนี้ จากผลสำรวจล่าสุด บริษัทที่คนรุ่นใหม่อยากร่วมงานมากที่สุด อันดับ 1 คือ กูเกิล ประเทศไทย ที่ครองแชมป์มา 5 สมัยติดต่อกันแล้ว ส่วน เอสซีจี หรือ ปูนซิเมนต์ไทย ปีนี้มาอยู่ในอันดับ 2 สลับกับอันดับ 3 ที่ปีนี้เป็นของ ปตท. ส่วน โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย อยู่อันดับ 4 และอันดับ 5 ช้อปปี้ ประเทศไทย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม คุณ จีรวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ฝั่งนายจ้างเอง ก็มีความคาดหวังกับคนทำงานด้วยเช่นกัน
นอกเหนือจากความรู้ความสามารถตามตำแหน่งงานที่ต้องการแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นในการเลือกคนเข้าทำงาน ซึ่งหลัก ๆ มี 3 ข้อ คือ การมีวัฒนธรรมร่วมกันกับองค์กร เพื่อให้การทำงานเข้าใจกันมากขึ้น
อีกปัจจัยคาดหวัง คือ การยอมรับการเปลี่ยนแปลง หรือสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นบ่อย และเร็วมาก สุดท้าย ความพร้อมด้านเทคโนโลยี ของคนทำงาน ขณะเดียวกัน การแรงงานด้าน ไอที ยังเป็นที่ต้องการสูง และยังขาดแคลน
ที่มาข้อมูล : เวิร์คเวนเจอร์ เทคโนโลจีส์
ที่มารูปภาพ : -