วิจัยกรุงศรีออกบทวิเคราะห์เศรษฐกิจประจำสัปดาห์ (28 ม.ค.) ประเมินว่าไทยอาจได้ผลเชิงบวกเล็กน้อยจากกรณีสหรัฐฯเรียบเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าจีนเพิ่มร้อยละ 10 และร้อยละ 25 กับเม็กซิโกและแคนาดา ซึ่งล่าสุดประธานาธิบดี "โดนัลด์ ทรัมป์" ประกาศเตรียมพิจารณาปรับขึ้นภาษีกับสินค้านำเข้าทุกประเภทจากทั้ง 3 ประเทศข้างต้น โดยจะให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้
วิจัยกรุงศรีระบุว่า การประเมินผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าได้ใช้แบบจำลองการวิเคราะห์การค้าโลก (Global Trade Analysis Project: GTAP) พบว่ากรณีสหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในอัตราร้อยละ 10 และร้อยอล 25 กับสินค้านำเข้าจากเม็กซิโกและแคนาดา อาจทำให้การส่งออกและ GDP ของไทย เพิ่มขึ้นจากกรณีฐานร้อยละ 1.65 และร้อยละ 0.05 ตามลำดับ
แม้ว่าไทยอาจได้ประโยชน์จากการส่งออกทดแทนในบางอุตสาหกรรม รวมถึงการย้ายฐานการผลิตเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากมาตรการขึ้นภาษี แต่ผลบวกกระจุกตัวในบางกลุ่มสินค้าเท่านั้น และที่สำคัญผลลบกระจายไปยังหลายอุตสาหกรรม
ทังนี้ นโยบายการค้าระหว่างประเทศของประธานาธิบดีทรัมป์ยังมีความไม่แน่นอนและอาจสร้างความปั่นป่วนต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกอยู่เป็นระยะๆ จึงนับเป็นประเด็นความท้าทายที่สำคัญต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย
สำหรับแนวโน้มการส่งออกของไทยปี 2568 วิจัยกรุงศรีคาดการณ์ว่าจะเติบโตชะลอลงสู่ร้อยละ 2.7 จากร้อยละ 5.4 ในปี 2567 โดยยังเผชิญแรงกดดันจากปัญหาเชิงโครงสร้าง อาทิ การลดลงของขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้า ประกอบกับความเสี่ยงจากความตึงเครียดทางการค้าที่อาจรุนแรงขึ้น รวมทั้งการแข่งขันกับสินค้าจีนที่คาดว่าจะหลั่งไหลเข้าสู่ตลาดโลกเพิ่มเติม หากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน
อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทยยังได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวในระดับใกล้เคียงกับปีก่อน (ล่าสุด IMF คาดจะเติบโตร้อยละ 3.3 จากร้อยละ 3.2 ในปี 2567) รวมถึงการเติบโตในภาคเศรษฐกิจดิจิทัลและกิจกรรมภาคท่องเที่ยวซึ่งจะช่วยกระตุ้นความต้องการสินค้าในบางรายการ เช่น อิเล็กทรอนิกส์ อาหาร และสินค้าเกษตร เป็นต้น
สรุปข่าว