อุตสาหกรรมการบินไทยใหญ่ติดที่ 19 โลก

นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานประจำปี 2567 โดยภาพรวมจำนวนผู้โดยสารในปี 2567 มีจำนวน 140 ล้านคน โดยเพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.12 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และมีการฟื้นตัวร้อยละ 85.14 เมื่อเทียบกับสภาวะปกติ

ขณะที่ปริมาณ เที่ยวบินในปี 2567 ในภาพรวมมีจำนวนมากถึง 880,000 เที่ยวบิน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.90 เมื่อเทียบกับปี 2566 อย่างไรก็ตามปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศมีการเติบโตมากกว่าสถานการณ์ปกติ จึงกล่าวได้ว่า อุตสาหกรรมการบินในปี 2568 มีทิศทางในการฟื้นตัวและสามารถกลับมาเติบโตได้ในระดับเดียวกันกับปี 2562

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดอุตสาหกรรมการบินของไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 19 ของโลก และมีการคาดการณ์จากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ IATA ว่า ตลาดการบินของประเทศไทยมีโอกาสขยายตัวจนขึ้นสู่อันดับที่ 9 ของโลกภายในปี 2576 ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นศูนย์กลาง การบินที่มีบทบาทสำคัญในภูมิภาคและระดับโลกอย่างชัดเจน

ดังนั้นแล้วหน่วยงานด้านการบินจะต้องเร่ง เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการพัฒนาขีดความสามารถ ในการให้บริการ การรักษามาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล รวมทั้งต้องเร่งผลักดันโครงการสำคัญต่าง ๆ ให้ เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

ส่วนด้านการออกใบอนุญาต ปี 2567 ซีเอเอที (CAAT) ได้ออกใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะเพิ่มเติม อีก 4 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยาน สุราษฎร์ธานี ออกใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือน หรือ AOL เพิ่ม 3 ราย และต่ออายุ AOL 5 ราย ออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ หรือ AOC ให้ 4 ราย ทำให้มีสายการบินเข้ามาในตลาดการบินเพิ่มขึ้น

ขณะที่จำนวนอากาศยานที่มีทะเบียนและได้รับใบสำคัญสมควรเดินอากาศสะสมจนถึงปี 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 656 ลำ เพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 47 ลำ คิดเป็นร้อยละ 4.46

สรุปข่าว

CAAT คาดอุตสาหกรรมการบิน ปี 2568 ฟื้นตัว เติบโตเท่าช่วงก่อนโควิด-19 และมีขนาดใหญ่ติดอันดับ 19 ของโลก มีเครื่องบินให้บริการถึงจำนวนทั้งสิ้น 656 ลำ

ที่มาข้อมูล : TNN

ที่มารูปภาพ : TNN