ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2568 การส่งออกไทย จะขยายตัวได้ร้อยละ 2.5 มีแนวโน้มเติบโตได้ต่ำกว่าปี 2567 ที่ขยายตัวได้ร้อยละ 5.4 โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 ยังมีแรงหนุนบางส่วนจากการเร่งนำเข้าสินค้า ก่อนการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และวัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังมีอยู่ แต่การส่งออกไทยยังถูกกดดันจากปัญหาเชิงโครงสร้างและมีความท้าทาย ดังนี้
1) สงครามการค้ารอบใหม่กดดันภาพการค้าและอุปสงค์โลก ในเบื้องต้นสหรัฐฯ ยังไม่ปรับขึ้นภาษีนำเข้ากับทุกประเทศ แต่ส่งสัญญาณที่จะปรับขึ้นภาษีนำเข้ากับเม็กซิโก แคนาดา และจีน ส่งผลให้การส่งออกไทยไปยังสหรัฐฯ อาจได้รับอานิงส์บวกบ้างเพื่อทดแทนตลาดดังกล่าว อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ ถุงมือยาง ยางล้อ เครื่องพิมพ์ (Printers) เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมการส่งออกไทยอาจต้องเผชิญแรงกดดันจากการค้าและอุปสงค์โลกที่ชะลอลง การแข่งขันในตลาดโลกที่สูงขึ้น และการส่งออกไปจีนที่คาดว่าชะลอลง
2)ความเสี่ยงที่จะโดนสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าเนื่องจากการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อยู่ในระดับสูง โดยสินค้าที่มีความเสี่ยงเป็นสินค้าที่ไทยได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูง และได้อานิงส์จากการเข้ามาลงทุนหรือย้ายฐานการผลิตของจีนในสงครามการค้ารอบแรก อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และโซลาร์เซลล์
อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ คงขึ้นอยู่กับจังหวะเวลาและขนาดการปรับขึ้นภาษี รวมถึงผลการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยและสหรัฐฯ ซึ่งอาจมีขึ้นในช่วงเดือนก.พ. 2568
และ3) ภาคการผลิตของโลกส่งสัญญาณชะลอตัว ส่วนหนึ่งถูกกดดันจากความต้องการสินค้าที่ลดลงท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายภายใต้ทรัมป์ 2.0 เศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวช้า และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงอยู่ในหลายพื้นที่
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในภาพรวมการส่งออกไทยปี 2568 จะได้รับผลกระทบสุทธิจากสงครามการค้าเป็นลบที่ราวร้อยละ 0.5 ซึ่งได้รวมอยู่ในประมาณการส่งออกล่าสุดแล้ว จากการส่งออกไปสหรัฐฯ ที่ลดลงในสินค้าบางรายการที่มีความเสี่ยง การส่งออกไปจีนที่ลดลงในสินค้าที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการผลิตจีน และการแข่งขันกับสินค้าจีนที่มากขึ้นในตลาดคู่ค้าของไทย
สรุปข่าว