ทรัมป์ 2.0 กระทบเวียดนามหนุนมาเลเซีย

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เวียดนาม ได้รับอานิสงส์จาก นโยบายตอบโต้ทางการค้าจีนของสหรัฐฯ โดยในช่วงการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สมัยแรก เวียดนามกลายเป็นประเทศผู้ผลิตที่บริษัทต่างชาติให้ความสนใจย้ายฐานการผลิตสินค้าเพื่อรักษาความได้เปรียบทางด้านภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ 

ส่งผลให้ในช่วง 6 ปีที่สหรัฐฯ ดำเนินมาตรการตอบโต้ทางการค้าจีน “เศรษฐกิจเวียดนามได้รับอานิสงส์ขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 8 ต่อปี” โดยเฉพาะการขยายตัวของมูลค่าการลงทุนทางตรงระหว่างประเทศ (FDI) และมูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นสูงอย่างมีนัยสำคัญ

 “ส่งผลให้ปัจจุบันสินค้าส่งออกจากเวียดนามมีส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ สูงหลายรายการ เช่น รองเท้ากีฬาราวหนึ่งในสาม เตียงและโต๊ะกินข้าวไม้ราวครึ่งหนึ่ง และเซลล์และแผงผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ราวหนึ่งในสี่ของมูลค่าตลาดทั้งหมดในสหรัฐฯ”

หากพิจารณาจากแนวนโยบายทางการค้าของ Mr. Jamieson Greer ผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับตำแหน่งผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (U.S. Trade Representative) คนใหม่ ที่ต้องการให้สหรัฐฯ เพิ่มมาตรการที่เข้มงวดเพื่อยับยั้งสินค้าจีนที่ส่งออกผ่านประเทศที่ 3 เพื่อไปยังสหรัฐฯ ซึ่งสินค้าเหล่านี้มักจะใช้วัตถุดิบการผลิตส่วนใหญ่จากจีน ผลิตโดยบริษัทลูกของจีนที่ไปตั้งฐานการผลิตในประเทศอื่นเพื่อหลบเลี่ยงภาษีนำเข้าในอัตราสูง ถึงแม้ว่าจะไม่มีการระบุชื่อประเทศ ซึ่งมีการประเมินกันว่านโยบายดังกล่าวพุ่งเป้าไปที่เวียดนามและเม็กซิโก ที่ปัจจุบันมีผู้ประกอบการจีนจำนวนมากไปตั้งฐานการผลิต เพื่ออาศัยเป็นช่องทางในการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ

เวียดนามเองก็ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังพิจารณาเพ่งเล็งเป็นพิเศษ และอาจจะนำมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้ามาบังคับใช้กับสินค้านำเข้าจากเวียดนามทุกรายการ เพื่อกดดันให้เวียดนามให้ความร่วมมือสหรัฐฯ ในการลดมูลค่าการขาดดุลทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ ลง

นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามกรณีที่เวียดนามเป็นประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงเป็นอันดับ 4 รองจากประเทศจีน สหภาพยุโรปและเม็กซิโก โดยล่าสุดสำนักข่าวรอยเตอร์ได้รายงานข้อมูลจากการเปิดเผยและการยืนยันของสำนักงานสถิติของสหรัฐฯ ว่า “ในช่วงระยะเวลา 11 เดือนแรกของปี 2567 ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน สหรัฐฯ ขาดดุลเวียดนามพุ่งสูงกว่า 111,600 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปี 2566” 

การขาดดุลของสหรัฐดังกล่าว เกิดขึ้นท่ามกลางการอ่อนค่าของสกุลเงินดองของเวียดนามนับตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมาจนถึงระดับต่ำสุดเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

เวียดนามเป็นฐานการผลิตในภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ที่สำคัญของบรรษัทข้ามชาติรายสำคัญๆ ของสหรัฐฯ อาทิ บริษัท Apple Google Nike และ Intel  ซึ่งการเกิดช่องว่างทางการค้าที่ทำให้เวียดนามมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ จำนวนมหาศาลทำให้บรรดานักวิเคราะห์มองว่า ประเด็นการขนาดดุลจะทำให้เวียดนาม “ถูกเรียกเก็บอัตราภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นจากคำขู่ของว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ที่เคยประกาศว่า สหรัฐฯ จะเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าสินค้าทุกชนิดในอัตราร้อยละ 20 ตรงนี้อาจกระทบเวียดนามได้ เพราะสหรัฐฯ ถือเป็นตลาดส่งออกหลักและใหญ่สุดของเวียดนาม”

นอกจากนี้เวียดนามมีแนวโน้มถูกสหรัฐฯ พิจารณาเข้าไปอยู่ในกลุ่มประเทศที่ถูกเฝ้าจับตามองเรื่องการอ่อนค่าของสกุลเงินดอง ซึ่งมีการประเมินจาก บริษัท Luther บริษัทกฎหมายระหว่างประเทศในเวียดนาม ว่า การที่สหรัฐฯ มองว่า เวียดนามจงใจทำให้สกุลเงินดองอ่อนค่าลง เพื่อการสร้างความได้เปรียบทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม อาจจะทำให้สหรัฐฯ มุ่งเป้าไปสู่การกล่าวหาเวียดนามว่า บิดเบือนค่าเงิน ซึ่งในยุคทรัมป์ 1.0 เวียดนามและสวิสเซอร์แลนด์ ถูกจัดเข้าไปอยู่ในคำประกาศของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ในฐานะประเทศที่มีการบิดเบือนค่าเงิน

ในส่วนของธนาคารกลางเวียดนาม ได้แจ้งว่า หากเกิดกรณีที่มีผลร้ายต่อเศรษฐกิจเวียดนามอันเกิดจากความเคลื่อนไหวของค่าเงินทางธนาคารกลางเวียดนามพร้อมเข้าแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเงินระหว่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา ธนาคารกลางเวียดนามเคยขายเงินสกุลดอลลาร์เพื่อหนุนค่าเงินดองให้แข็งขึ้น 

ก่อนหน้านี้ที่จะมีการเปิดเผยตัวเลขยอดขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ทางธนาคารกลางเวียดนามได้แจ้งว่า ได้มีการเฝ้าติดตามนโยบายของว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์อย่างใกล้ชิด และจะดำเนินการปรับนโยบายให้เป็นไปตามนโยบายของสหรัฐฯ อย่างเหมาะสม และได้ชี้แจว่า ค่าสกุลเงินดองล่าสุด เมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับสกุลเงินอื่น

มีรายงานจาก กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม (MOIT) ระบุว่า “ ในปี 2567 สินค้าส่งออกของเวียดนามต้องเผชิญกับการไต่สวนมาตรการปกป้องทางการค้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อันเนื่องมาจากนโยบายปกป้องทางการค้า ที่ขยายตัวทั่วโลก โดยพบว่ามีการเริ่มต้นไต่สวน 28 กรณี ครอบคลุมสินค้าส่งออกของเวียดนามใน 12 ตลาด ซึ่งในจำนวนนี้ 13 กรณีเป็นการไต่สวนจากสหรัฐอเมริกา” 

สินค้าที่ถูกตรวจสอบมีความหลากหลายครอบคลุมทั้งสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูง เช่น แบตเตอรี่โซลาร์เซลล์ (Solar Battery) ซึ่งมีมูลค่าส่งออกถึง 4,200 ล้านเหรียญสหรัฐ /กุ้ง มูลค่า 800 ล้านเหรียญสหรัฐ และเหล็กกล้าทนการกัดกร่อน (Corrosion Resistance Steel) มูลค่า 242 ล้านเหรียญสหรัฐ ไปจนถึงสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกต่ำกว่า เช่น จานกระดาษ มูลค่าส่งออก 9 ล้านเหรียญสหรัฐ 

จนถึงปัจจุบัน มีการไต่สวนมาตรการปกป้องทางการค้า 270 กรณี ที่ดำเนินการโดย 25 ประเทศ ซึ่งแบ่งเป็นมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping) 148 กรณี มาตรการปกป้อง (self-defence) 54 กรณี การตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (Anti Circumvention) 38 กรณี และมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Anti-subsidy) 30 กรณี ในปี 2567 นับเป็นหนึ่งในปีที่มีจำนวนการไต่สวนมาตรการปกป้องทางการค้าสูงที่สุด รองจากปี 2563 ซึ่งมีการเริ่มต้นไต่สวนถึง 39 กรณี สะท้อนให้เห็นถึงการขยายตัวของนโยบายปกป้องทางการค้าทั่วโลก ซึ่งคาดว่าจะยังคงดำเนินต่อไปในอนาคต

ที่น่าสังเกตคือ การไต่สวนมาตรการปกป้องทางการค้ากำลังมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น สหรัฐอเมริกาเริ่มดำเนินการไต่สวนเกี่ยวกับการอุดหนุนข้ามพรมแดน (Cross-border subsidy) สำหรับแผงโซลาร์เซลล์ (Solar Panels) และแคปซูล (Capsules) ที่ส่งออกจากเวียดนามเป็นครั้งแรก 

นอกจากนี้ หลายประเทศยังแสดงแนวโน้มที่จะดำเนินการไต่สวนและบังคับใช้มาตรการหลายประเภทในเวลาเดียวกันกับผลิตภัณฑ์เดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด มาตรการตอบโต้การอุดหนุน มาตรการปกป้อง และการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน โดยคาดว่าความซับซ้อนของการไต่สวนการปกป้องทางการค้าในปี 2568 จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2567 ซึ่งจะทำให้เวียดนามต้องเผชิญความเสี่ยงต่อถูกใช้มาตรการปกป้องทางการค้าของประเทศคู่ค้าเข้มข้นขึ้น

ส่วนใน "มาเลเซีย"  มีการประเมินจาก CIMB มาเลเซีย ว่า มาเลเซียมีความพร้อมเชิงยุทธศาสตร์ที่จะได้รับประโยชน์จากความขัดแย้งทางการค้าอันมีต้นตอมาจากนโยบายการค้าของรัฐบาลทรัมป์ โดยมองว่าประเทศมาเลเซียจะได้รับประโยชน์จากกลยุทธ์ จีนบวกหนึ่ง ของประเทศจีน และไม่ได้รับผลจากภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ นโยบายด้านภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ อาจจะจำกัดกิจกรรมการขนถ่ายสินค้าทั่วโลก แต่ก็อาจเร่งให้จีนดำเนินกลยุทธ์จีนบวกหนึ่งให้เข้มข้นขึ้น ส่งผลต่อมาเลเซียในฐานะจุดผ่านแดนการค้าจากจีนไปยังสหรัฐฯ 

CIMB  ประเมินว่า “มาเลเซียมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่มีตัวเลขเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 47.2” เป็นตัวเลขที่เกิดขึ้นช่วงสงครามการค้าในปี 2561 

“มาเลเซียได้ผลกำไรเชิงบวกของดุลการค้ารวมกับสหรัฐฯ และจีน ที่เติบโตขึ้นร้อยละ 1.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ( GDP) ระหว่างปี 2560 - 2566”  จากภาคการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มในประเทศ ท่ามกลางสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน 2.0 ที่กำลังใกล้เข้ามา เงื่อนไขการค้าของมาเลเซีย ซึ่งเป็นการวัดราคาสัมพันธ์ระหว่างการส่งออกกับการนำเข้า มีแนวโน้มจะปรับปรุงขึ้น โดยได้รับแรงผลักดันจากการเปลี่ยนเส้นทางการค้าและการฟื้นตัวของการส่งออก จากการเติบโตในช่วงที่ทรัมป์ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี มาเลเซียคาดว่าจะสามารถใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงในภาคส่วนสำคัญๆ เช่น อิเล็กทรอนิกส์ สารเคมี และน้ำมันปาล์ม

CIMB  มองว่า มาเลเซียเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำในกลุ่มอาเซียนร่วมกับไต้หวัน เวียดนาม และกัมพูชา ที่สามารถบูรณาการเศรษฐกิจของประเทศให้เข้ากับห่วงโซ่การค้าระดับโลกและมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่เพิ่มขึ้น “ตรงนี้น่าจะทำให้ GDP ของมาเลเซียจะเติบโตร้อยละ 5 ในปี 2568” 

ทางด้าน สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์  กระทรวงพาณิชย์ ของไทย ประเมินว่า ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนในช่วงที่โดนัลด์ ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ส่งผลให้มาเลเซีย ได้รับผลกระทบเชิงบวกในเชิงเศรษฐกิจและการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทานโลกและโอกาสทางการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในหลายประเด็น

1. บริษัทข้ามชาติบางแห่งเลือกย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรที่สูงขึ้นจากนโยบายการค้าที่เข้มงวดของสหรัฐฯ มาเลเซียเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจ เนื่องจากมีความพร้อมทางโครงสร้างพื้นฐาน แรงงานที่มีฝีมือ และความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์

2. มาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายสำคัญของโลก ได้รับโอกาสเพิ่มขึ้นจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดสหรัฐฯ แทนสินค้าที่เดิมนำเข้าจากจีน.

3. ความต้องการน้ำมันปาล์มของมาเลเซียเพิ่มขึ้น เนื่องจากจีนอาจลดการนำเข้าสินค้าทางการเกษตร เช่น ถั่วเหลือง จากสหรัฐฯ แล้วเปลี่ยนมานำเข้าจากประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทน รวมถึงมาเลเซีย

4. ในช่วงความขัดแย้ง มาเลเซียได้เสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนผ่านข้อตกลงที่ไม่เกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ เช่น Belt and Road Initiative และการเพิ่มบทบาทในกรอบการค้าอาเซียน 

 5. การโยกย้ายการลงทุนจากจีนมายังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงมาเลเซีย ช่วยกระตุ้นการลงทุนในภาคการผลิตและบริการ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงครามการค้า เช่น อิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์.

 เแม้มาเลเซียจะได้รับผลเชิงบวกแต่มีสิ่งที่ต้องเฝ้าระวัง  เช่น  ความไม่แน่นอนในนโยบายของสหรัฐฯ และจีน/ความสามารถในการแข่งขันกับประเทศในภูมิภาค เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ที่เป็นผู้รับผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน /ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกจากความตึงเครียดทางการค้าที่ยังคงมีอยู่  


 

สรุปข่าว

ที่มาข้อมูล : ถังสคริป

ที่มารูปภาพ : https://www.ditp.go.th/