สินค้าไทยเฉิดฉายใน "จีน" มวยยกแรกไม่เกิด ถ้าไม่ลุกขึ้นสู้ l การตลาดเงินล้าน
สินค้าแบรนด์ไทยซึ่งเป็นที่นิยมของคนจีน ปัจจุบันถูกพูดถึงในหลากหลายกลุ่ม ยกตัวอย่างบางแบรนด์ที่โดดเด่น เริ่มที่กลุ่ม สุขภาพและความงาม เช่น มิสทิน โดย ครีมกันแดด ของแบรนด์ มิสทิน ถูกบันทึกให้เป็นสินค้ากันแดดที่มียอดขายสูงที่สุดในจีน ในปี 2566 ด้วยยอดขายมากกว่า 10 ล้านชิ้น สูงกว่าแบรนด์ดัง ทั้งจากญี่ปุ่น และฝรั่งเศส โดยตลาดครีมกันแดดในจีนนั้น กำลังเติบโตสูง และคาดว่า ปี 2571 มูลค่าจะเพิ่มเป็น 22,000 ล้านหยวน
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญในตลาดอี-คอมเมิร์ซข้ามพรมแดน ระบุว่า ศรีจันทร์ กำลังเป็นแบรนด์ดาวรุ่ง รวมถึงผลิตภัณฑ์ความงามอื่น ๆ อีกหลายแบรนด์ เช่น แป้งพัฟจากแบรนด์ บาบาร่า เป็นต้น ส่วนสินค้ากลุ่มเพื่อสุขภาพ ปัจจุบันพบว่า ผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม พรีไบโอติกส์ โปรไบโอติกส์ ก็กำลังเป็นที่ต้องการสูงในกลุ่มผู้บริโภคชาวจีน
ขณะที่กลุ่มแฟชัน แบรนด์ โพเอม (POEM) เป็นแบรนด์ที่คนดัง และ KOL ของจีนนิยม จนต้องเดินทางมาซื้อในประเทศไทยโดยเฉพาะ และปัจจุบัน โพเอม ก็มีชอปอยู่ในประเทศจีนแล้วด้วย
ส่วนกระเป๋าผ้าแบรนด์ นารายา ก็เป็นสินค้าของฝากยอดนิยมมายาวนานสำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีน
กลุ่มอาหารและขนมขมเคี้ยว เป็นอีกกลุ่มสินค้าที่ได้รับความนิยมมากเช่นกัน เห็นได้จากบรรดาขนมขมเคี้ยวหลากหลายแบรนด์ ที่วางจำหน่ายอยู่ในร้านค้าปลอดภาษี ต่างมียอดขายที่ดี ไม่ว่าจะเป็นขนมไทย ผลไม้อบแห้ง รวมทั้ง สาหร่ายอบกรอบยอดฮิต แบรนด์ เถ้าแก่น้อย และขนมอบกรอบรสมะเขือเทศ-พริกหยวก
อีกกลุ่มผลิตภัณฑ์ ที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ คือกลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย โดยเฉพาะยาดม และยาหม่อง ซึ่งมีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ ถือเป็นของฝากยอดนิยมอีกรายการจากนักท่องเที่ยวชาวจีน เช่น ยาดมโป๊ยเซียน และ หงส์ไทย เป็นต้น
ด้านคุณ กุลธิรัตน์ ภควัชร์ไกรเลิศ นายกสมาคมผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์ไทย ให้ความเห็นว่า นอกจากกลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพรแบบดั้งเดิมแล้ว ปัจจุบัน กลุ่มสินค้าที่ฉีกกฎหรือกรอบเดิม ๆ และการเป็นแฟชันใหม่ ๆ กำลังเป็นที่ชื่นชอบอย่างมากของคนจีนในปัจจุบัน ซึ่งไทยเรา มีความถนัดอยู่แล้ว ทำให้เห็นว่า สินค้าไทยยังมีโอกาสอีกมากในตลาดต่างประเทศ เช่น จีน เพียงแต่ต้องลุกขึ้นมาสู้เท่านั้น
โดยกล่าวด้วยว่า มวยยกแรกจะไม่เกิด ถ้าไม่ลุกขึ้นมาสู้ ท่ามกลางการแข่งขันของสินค้า นอน แบรนด์ ราคาถูกเข้ามามากขึ้น หนึ่งในโอกาสที่อยากให้มอง ก็คือ การค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน (Cross-Border e-Commerce) ที่ปัจจุบันมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น และมีระบบขนส่งดี ๆ หลากหลายแบรนด์ให้เลือกใช้
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะลุกขึ้นมาทำ ครอส บอร์เดอร์ อี คอมเมิร์ซ ผู้ประกอบการไทย ควรต้องตรวจดูความพร้อมของตนเองก่อน เช่น มีทีมที่จะผลักดันช่วยขายสินค้าออนไลน์แล้วหรือยัง, จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า หรือจดสิทธิบัตร แล้วหรือยัง ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าสำคัญมาก และต้องดูว่าสินค้าเหมาะที่จะขายกับใคร โดยใช้ ดาต้า (ข้อมูล) ในการตัดสินใจ
สรุปข่าว