เสนอไทยดึง "บิตคอยน์" เป็นทุนสำรอง
คุณจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ได้เปิดเผยผ่านนิตยสาร Forbes Thailand ย้ำว่าประเทศไทย ควรพิจารณาเพิ่ม Bitcoin เป็นหนึ่งในทุนสำรองของประเทศควบคู่ไปกับทองคำและสกุลเงินหลักที่มีอยู่เดิม โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนทุนสำรองทั้งหมด
คุณท้อปย้ำว่า ไทยไม่ควรรอจนกระทั่งต้นทุนสูงขึ้น เพราะต้องแบกรับต้นทุนมากขึ้นมาก หากเริ่มต้นเร็วจะสร้างความได้เปรียบในระยะยาว ตามหลายปัจจัยส่งเสริมในขณะนี้ อย่างการเข้ามาดำรงตำแหน่งของ "โดนัลด์ ทรัมป์" ที่มีแผนที่จะผลักดันการถือครอง Bitcoin จำนวน 1 ล้าน Bitcoin เป็นทุนสำรองของประเทศ ซึ่งอาจทำให้ประเทศอื่น ๆ ต้องเร่งปรับตัวเริ่มพิจารณาถือครอง รวมถึงปี 2568 ที่จะเป็นปีทองของสินทรัพย์ดิจิทัล เพราะเป็นช่วง wave ที่ 4 ของคริปโทเคอร์เรนซีที่ตามสถิติแล้วจะเกิดขึ้นทุก 4 ปี
คุณท้อปยังเสนอให้จัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลโดยเฉพาะ เช่นเดียวกับ ก.ล.ต. ดิจิทัลในดูไบ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการพัฒนาอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลของไทย พร้อมชี้ว่าแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชีย มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยจีนมีสัดส่วน GDP จากเศรษฐกิจดิจิทัลถึงร้อยละ 44 และคาดว่าจะเพิ่มเป็นร้อยละ 50 ในปีนี้ ขณะที่เวียดนามมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 17
สรุปข่าว
ขณะที่อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ล่าสุดได้รับข้อเสนอจากสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (TDO) และภาคเอกชน ให้ ก.ล.ต. พิจารณาเพิ่มรายชื่อคริปโทเคอร์เรนซีเพิ่มเติม ที่ Issuer, ICO Portal, และศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล สามารถรับเป็นการตอบแทนหรือทำธุรกรรม หรือใช้ซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้
โดย ก.ล.ต. ได้พิจารณาข้อเสนอดังกล่าวทั้งด้านสภาพคล่องและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องในภาพรวมแล้ว เห็นว่าการเพิ่มรายชื่อคริปโทเคอร์เรนซีจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการประกอบธุรกิจของ Issuer, ICO Portal และศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น จึงมีแนวคิดที่จะปรับปรุงบัญชีรายชื่อคริปโทเคอร์เรนซี โดยเสนอเพิ่มคริปโทเคอร์เรนซีในบัญชีดังกล่าวอีก 2 สกุล ได้แก่ USD Coin (USDC) และ Tether (USDT)
ขณะที่ปัจจุบัน สำนักงาน ก.ล.ต. ได้กำหนดบัญชีรายชื่อคริปโทเคอร์เรนซีแล้ว จำนวน 5 รายชื่อ ได้แก่ Bitcoin (BTC), Ethereum (ETH), Ripple (XRP), Stellar (XLM) และคริปโทเคอร์เรนซีที่ใช้ในการทดสอบการชำระราคา ที่มีการกำหนดเงื่อนไขอัตโนมัติ (Programmable Payment) ภายใต้ Enhanced Regulatory Sandbox ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ที่มาข้อมูล : คลิปทีวี
ที่มารูปภาพ : Forbes Thailand