FTA ฉบับ 16 โอกาสทองการค้าไทย-ยุโรป

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ปิดดีล FTA ไทย - EFTA ได้สำเร็จ ถือเป็น FTA ฉบับแรกที่ไทยทำกับกลุ่มประเทศในยุโรป โดยจะมีการลงนาม FTA ฉบับใหม่นี้ในวันที่ 23 มกราคม 2568 ที่การประชุม World Economic Forum ดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งจะทำให้ไทยมี FTA ทั้งหมด 16 ฉบับ กับ 23 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ


การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป  ประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ (1) สวิตเซอร์แลนด์ (2) นอร์เวย์ (3) ไอซ์แลนด์ และ (4) ลิกเตนสไตน์ สามารถสรุปการเจรจาได้ 15 เรื่อง  โดยเป็นข้อตกลงที่มีมาตรฐานสูง สอดคล้องกับการพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นแต้มต่อให้ผู้ประกอบการไทยในการประกอบธุรกิจและปูทางสำหรับการเจรจา FTA กับคู่ค้าสำคัญอื่นๆ เช่น สหภาพยุโรป ในอนาคต  

   

ทั้งนี้ การเจรจา FTA ถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญและเร่งด่วนของนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยในปี 2568 นายพิชัยฯ ได้สั่งการให้เร่งรัดการเจรจา FTA อีกหลายฉบับ อาทิ FTA ไทย-สหภาพยุโรป (EU) / ไทย-เกาหลีใต้ / ไทย-ภูฏาน / ไทย – สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) / อาเซียน – แคนาดา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ และการส่งออกของไทย รวมถึงให้เร่งจัดทำความร่วมมือเพื่อนำไปสู่การเจรจา FTA ในอนาคตกับประเทศคู่ค้าศักยภาพ

 

นอกจากนี้ ในช่วง 10 เดือนของปี 2567 ไทยมีมูลค่าการค้ากับโลก 507,547 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการค้ารวมกับประเทศคู่ FTA มีมูลค่า 299,345 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 59 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย การส่งออกไปประเทศคู่ FTA มีมูลค่า 143,635 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 


อย่างไรก็ตาม การเจรจาจัดทำ FTA จะช่วยเพิ่มพันธมิตรทางการค้าใหม่ๆ ลดอุปสรรคทางการค้า สร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดการค้าการลงทุนจากต่างชาติ ยกระดับมาตรฐาน สร้างความได้เปรียบและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทยในการส่งออก


ที่มา TNN

สรุปข่าว

ที่มาข้อมูล : TNN

ที่มารูปภาพ : TNN