อินเดีย-ปากีฯร้อนสุดขีด ส่อทะลุขีดจำกัดมนุษย์อยู่รอด

อินเดียและปากีสถานกำลังเผชิญกับคลื่นความร้อนที่มาเร็วกว่าปกติและมีแนวโน้มจะยาวนานกว่าทุกปีที่ผ่านมา โดยในสัปดาห์นี้คาดว่าอุณหภูมิในบางพื้นที่จะพุ่งขึ้นแตะระดับอันตราย คล้ายกับใน “เดธวัลเลย์” สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ร้อนและแห้งแล้งที่สุดในโลก

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของปากีสถานระบุว่า ระหว่างวันที่ 14–18 เมษายน บางพื้นที่จะเผชิญอุณหภูมิสูงกว่าค่าปกติถึง 8 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะในแคว้นบาลูจิสถาน ซึ่งอุณหภูมิอาจพุ่งสูงถึง 49 องศาฯ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนอย่างรุนแรง

ชาวบ้านในเมือง “เดรา มูราด จามาลี” เล่าว่าคลื่นความร้อนมาอย่างฉับพลันโดยไม่มีใครทันตั้งตัวและทำให้เกิด ไฟฟ้าดับนานถึง 16 ชั่วโมงต่อวัน ซ้ำเติมสถานการณ์ความร้อนรุนแรงที่ผู้คนต้องเผชิญ

ขณะเดียวกัน ประเทศอินเดียก็กำลังเผชิญกับอุณหภูมิสูงเกินค่าเฉลี่ยเช่นกัน โดยกรุงนิวเดลี เมืองหลวงที่มีประชากรมากกว่า 16 ล้านคน มีอุณหภูมิแตะระดับ 40 องศาฯ ขึ้นไปถึง 3 ครั้งในเดือนเมษายน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติถึง 5 องศาฯ ส่วนในรัฐราชสถานและรัฐใกล้เคียง แรงงานและเกษตรกรต้องทำงานกลางแดดจัด โดยมีรายงานผู้ป่วยจากอาการหน้ามืด อาเจียน และหมดสติเพิ่มขึ้น 

อินเดีย-ปากีฯร้อนสุดขีด ส่อทะลุขีดจำกัดมนุษย์อยู่รอด

สรุปข่าว

อินเดียและปากีสถานกำลังเผชิญคลื่นความร้อนที่มาเร็วกว่าปกติ อุณหภูมิพุ่งแตะระดับเดธวัลเลย์ ทำให้ประชาชนกว่าพันล้านคนต้องรับมือกับความร้อนรุนแรงผิดฤดูกาล เสี่ยงต่อสุขภาพ เกษตรกรรม และระบบพลังงาน ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่านี่อาจเป็นสัญญาณเตือนชัดเจนของวิกฤตโลกร้อนที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ

ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นในระดับนี้กำลังทดสอบ “ขีดจำกัดการอยู่รอดของมนุษย์” โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น หญิงตั้งครรภ์ เด็ก และแรงงานกลางแจ้ง ด้าน “เนฮา มานกานี” ที่ปรึกษาจากสมาพันธ์ผดุงครรภ์นานาชาติในปากีสถาน เปิดเผยว่าในฤดูร้อน พบว่าทารกประมาณ 80% เกิดก่อนกำหนดและมีปัญหาระบบทางเดินหายใจ รวมถึงพบความเสี่ยงต่อครรภ์เป็นพิษซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของแม่จำนวนมาก


ส่วนผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมและเกษตรกรรมในปากีสถานและอินเดียต่างกังวลว่า อุณหภูมิที่สูงเกินไปและไม่แน่นอนนี้ จะทำลายวงจรการเพาะปลูก พืชเริ่มออกดอกเร็วเกินไป ผลผลิตตกต่ำ และระบบนิเวศเสียสมดุล นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของความต้องการใช้ไฟฟ้าเพื่อต่อสู้กับความร้อน ส่งผลให้หลายพื้นที่เกิด ภาวะขาดแคลนพลังงาน โรงเรียนต้องปิด รถไฟบางสายถูกยกเลิก และการเรียนการสอนหยุดชะงัก

อย่างไรก็ตาม คลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในอินเดียและปากีสถาน สะท้อนผลกระทบจาก วิกฤตสภาพภูมิอากาศ (Climate Crisis) อย่างชัดเจน โดยผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า หากไม่เร่งดำเนินมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง ภูมิภาคเอเชียใต้จะกลายเป็นพื้นที่แรก ๆ ของโลกที่ อุณหภูมิสูงเกินขีดจำกัดที่มนุษย์จะดำรงชีวิตอยู่ได้ภายในปี 2050


ที่มาข้อมูล : TNN EARTH

ที่มารูปภาพ : Reuters