รู้จัก “หย่อมความร้อน” ตัวการทำไทยร้อนจัด

หย่อมความกดอากาศต่ำจากความร้อน หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่าหย่อมความร้อนนั้น คือหย่อมความกดอากาศต่ำที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินเนื่องจากความร้อนจากดวงอาทิตย์ โดยสัญลักษณ์ในแผนที่อากาศสังเกตง่าย ๆ คือตัว L สีแดง ๆ ซึ่งเมื่อหย่อมความกดอากาศต่ำจากความร้อนตัวนี้ปกคลุมอยู่ที่ไหน บริเวณนั้นจะมีอากาศร้อนอบอ้าว และไร้ฝน คาดว่าหย่อมความร้อนนี้จะปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนต่อเนื่องไปจนถึงช่วงปลายเดือนเมษายน แต่ในบางช่วงก็อาจจะคลายร้อนลงไปได้หากมีมวลอากาศเย็นแผ่ลงมาปะทะ ก็จะทำให้เกิดเป็นพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง ซึ่งเราเรียกว่าพายุฤดูร้อน แต่ผ่านไปซักพัก หย่อมความร้อนก็จะกลับมาปกคลุมใหม่

สรุปข่าว

"ในช่วงฤดูร้อน หลายพื้นที่มีอากาศร้อนอบอ้าวและร้อนจัดเป็นบางวัน ซึ่งหนึ่งปัจจัยที่ควบคุมสภาพอากาศในช่วงนี้ ก็คือหย่อมความกดอากาศต่ำจากความร้อนนั่นเอง"

โดยกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่า พื้นที่ที่มีอากาศร้อนจัดจะอยู่บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ และกาญจนบุรีที่เห็นเป็นพื้นที่สีแดงเข้มๆ โดยอุณหภูมิสูงสุดอาจทะลุ 40 องศาเซลเซียสในบางวัน ซึ่งปีที่แล้ว อ.เถิน จ.ลำปางพบว่าเป็นพื้นที่ที่มีอากาศร้อนที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากมีหย่อมความร้อนปกคลุมหลายวัน โดยวันที่ 22 เมษายน ปี 2567 วัดอุณหภูมิสูงสุดได้ถึง 44.2 องศาเซลเซียส ส่วนอุณหภูมิที่สูงที่สุดที่เคยวัดได้ในประเทศไทยคือ 44.6 องศาฯ เคยเกิดขึ้นที่จ.ตากเมื่อวันที่ 15 เมษายนปี 2566 และ แม่ฮ่องสอน ในวันที่ 28 เมษายนปี 2559

ดังนั้นใครที่อาศัยบริเวณพื้นที่ดังกล่าวในช่วงที่มีอากาศร้อนถึงร้อนจัดก็ต้องหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน ๆ และจิบน้ำบ่อย ๆ ป้องกันการเกิดโรคลมแดด

ที่มาข้อมูล : TNN

ที่มารูปภาพ : TNN Earth

avatar

สุนิดา สวัสดิพรพัลลภ

แท็กบทความ