ภูเขาน้ำแข็งละลาย ทำกทม. เสี่ยงจม?

ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย ระบุว่า ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลของประเทศไทยและกรุงเทพมหานคร กำลังเป็นความท้าทายที่ต้องเผชิญในอนาคตอันใกล้ 

จากการละลายของภูเขาน้ำแข็ง A23A ภูเขาน้ำแข็งใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งใหญ่กว่านครนิวยอร์กถึง 3 เท่า หรือใหญ่กว่ากรุงเทพมหานครถึง 2 เท่า ได้เริ่มเคลื่อนที่และแตกตัวตั้งแต่ปี 2020 โดยเฉพาะเมื่ออุณหภูมิของโลกร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้นเกือบ 3 องศาเซลเซียส ส่งผลให้ภูเขาน้ำแข็งเริ่มละลายและเคลื่อนตัวเข้าสู่พื้นที่น้ำตื้นนอกชายฝั่งเกาะเซาท์จอร์เจียทางขั้วโลกใต้

สรุปข่าว

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลทำให้ภูเขาน้ำแข็งละลายและระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น หลายพื้นที่ของประเทศไทยเสี่ยงได้รับผลกระทบ”

ผลกระทบจากการละลายของภูเขาน้ำแข็งมีหลายด้าน เช่น

1. การแตกตัวของภูเขาน้ำแข็งทำให้เกิดอุปสรรคในการเดินเรือขนาดใหญ่ รวมถึงเรือประมงที่อาจจะจับปลาได้น้อยลง

2. นกเพนกวินและสัตว์น้ำอื่นๆ เช่น แมวน้ำ จะได้รับผลกระทบจากการที่หาอาหารได้ยากขึ้น

3. การละลายของน้ำแข็งจะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นทั่วโลก รวมถึงบริเวณชายฝั่งของประเทศไทย

4. การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากน้ำแข็งที่ละลายจะยิ่งทำให้ภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้น

รายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communication เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 คาดการณ์ว่าในปี 2050 ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นและส่งผลกระทบต่อประชากรในหลายพื้นที่ทั่วโลก โดย 70% ของผู้ได้รับผลกระทบจะอยู่ใน 7 ประเทศหลัก ได้แก่ จีน บังคลาเทศ อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น

นอกจากนี้, องค์การ NASA คาดการณ์ว่าในปี 2030 ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมชายฝั่งทะเลและแหล่งน้ำทั่วโลกจะเผชิญกับปัญหาน้ำท่วม พายุ และสึนามิอย่างรุนแรง โดยประเทศไทยอาจจะได้รับผลกระทบทุก 2-5 ปี

ปัจจุบัน พบว่าในประเทศไทย ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นประมาณ 5.8 มม. ต่อปี พื้นที่เสี่ยงคือในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเล เช่น สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นนทบุรี และปทุมธานี ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการกัดเซาะและน้ำท่วม

จากการคาดการณ์ของ UNESCO ในปี 2050 น้ำทะเลจะสูงขึ้นประมาณ 20-30 เซนติเมตรในประเทศไทย และกรุงเทพฯ ซึ่งมีพื้นที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล จะพบปัญหาการทรุดตัวของแผ่นดินที่มีอัตราประมาณ 100 มิลลิเมตรต่อปี โดยเฉพาะในพื้นที่เขตบางคอแหลม บางรัก ธนบุรี บางกอกใหญ่ บางกอกน้อย บางนา บางกะปิ รามคำแหง บางเขน และดอนเมือง 

ก็นับว่าไทยเราควรเร่งดำเนินการเตรียมพร้อมในการป้องกันปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ และพื้นที่ชายฝั่งทะเล เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ก่อนที่จะสายเกินไป


ที่มาข้อมูล : TNN Earth

ที่มารูปภาพ : TNN Earth