กทม.เริ่มเก็บขยะเศษอาหาร นำร่อง 6 เขต 21 เม.ย.นี้ บ้านไหนทำดีจ่าย 20 บาท/เดือน

นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมโครงการจัดเก็บขยะเศษอาหารในพื้นที่นำร่อง 6 เขต ภายใต้โครงการ "บ้านนี้ไม่เทรวม : แยกขยะลดค่าธรรมเนียม" โดยจะเริ่มดำเนินการจัดเก็บตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2568 เป็นต้นไป

 

โครงการดังกล่าวเปิดโอกาสให้ประชาชนสมัครเข้าร่วมผ่านแอปพลิเคชัน BKK Waste Pay เพื่อรองรับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมขยะตามอัตราใหม่ ที่จะเริ่มบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2568 ซึ่งมุ่งส่งเสริมให้ประชาชนคัดแยกขยะก่อนทิ้ง ลดปริมาณขยะเข้าสู่ระบบกำจัด เขตนำร่องที่เข้าร่วม ได้แก่ เขตบางพลัด เขตบางคอแหลม เขตลาดพร้าว เขตพญาไท เขตธนบุรี เขตลาดกระบัง

กทม.เริ่มเก็บขยะเศษอาหาร นำร่อง 6 เขต 21 เม.ย.นี้ บ้านไหนทำดีจ่าย 20 บาท/เดือน

สรุปข่าว

กทม. เตรียมเก็บขยะเศษอาหาร 6 เขตนำร่อง ได้แก่ เขตบางพลัด, บางคอแหลม, ลาดพร้าว, พญาไท, ธนบุรี และลาดกระบัง เริ่ม 21 เม.ย.นี้ หนุนคัดแยกขยะ ลดค่าธรรมเนียม กระตุ้นประชาชนร่วมจัดการขยะจากต้นทาง

โดยสำนักงานเขตและสำนักสิ่งแวดล้อมจะร่วมกันจัดเก็บข้อมูล ติดตามผล และประเมินผลการดำเนินงาน เพื่อนำไปวิเคราะห์และขยายผลครอบคลุมครบทั้ง 50 เขตในอนาคต

 

เมื่อประชาชนสมัครเข้าร่วมโครงการ จะมีการลงพิกัดบ้านที่เข้าร่วม พร้อมรับถุงสีเขียวสำหรับใส่ขยะเศษอาหาร และติดสติกเกอร์แสดงการเข้าร่วมโครงการ โดยมีการแยกขยะออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

  1. ขยะเศษอาหาร
  2. ขยะทั่วไป
  3. ขยะรีไซเคิล
  4. ขยะอันตราย

 

การจัดเก็บขยะเศษอาหารจะดำเนินการ 2 – 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังส่งเสริมการนำขยะเศษอาหารไปใช้ประโยชน์ เช่น เป็นอาหารสัตว์ ส่งต่อให้เกษตรกร หรือทำปุ๋ยหมักผ่าน “ถังหมักรักษ์โลก” พร้อมลงพื้นที่สื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชน และนำนวัตกรรมต่าง ๆ มาใช้ เพื่อมุ่งลดปริมาณขยะตั้งแต่ต้นทาง

สำหรับอัตราค่าธรรมเนียมขยะใหม่ กำหนดไว้ดังนี้

  • 20 บาทต่อเดือน สำหรับบ้านพักอาศัยทั่วไปที่มีปริมาณขยะไม่เกิน 20 ลิตรต่อวัน (ประมาณ 4 กิโลกรัม) หากมีการคัดแยกขยะตามเงื่อนไขของ กทม.
  • 60 บาทต่อเดือน สำหรับกรณี ไม่มีการคัดแยกขยะ

กรุงเทพมหานครคาดว่าโครงการนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการลดขยะจากต้นทาง และสร้างเมืองที่สะอาดและยั่งยืนมากยิ่งขึ้นในอนาคต

ที่มาข้อมูล : กรุงเทพมหานคร

ที่มารูปภาพ : Reuters

avatar

สุนิดา สวัสดิพรพัลลภ

แท็กบทความ

ขยะอาหารสิ่งแวดล้อม
คัดแยกขยะ
ค่าธรรมเนียมขยะ
กรุงเทพมหานคร