“เมียนมา” ยังไม่ปลอดภัย เสี่ยง “แผ่นดินไหว” ต่อเนื่อง

หลังเกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.2 หรือ 7.7 ตามการวัดของสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐฯ (USGS) เมื่อวันที่ 28 มีนาคม บริเวณภูมิภาคสะกาย ทางภาคกลางของเมียนมา ขณะนี้นักวิชาการหลายฝ่ายเตือนถึงความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ซ้ำอีกในอนาคตอันใกล้

 

รายงานจากสถาบันวิจัยด้านธรณีวิทยาระบุว่า เมียนมาตั้งอยู่บนแนวรอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault) ซึ่งเป็นรอยเลื่อนหลักที่พาดผ่านประเทศจากเหนือจรดใต้ และยังมีรอยเลื่อนย่อยที่มีศักยภาพก่อแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้ เช่น รอยเลื่อนพะโค และรอยเลื่อนในแถบอิระวดี

 

หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงภายในของเมียนมาได้ประกาศเตือนภัยในเมืองใหญ่อย่าง มัณฑะเลย์ ย่างกุ้ง และเนปิดอว์ โดยรณรงค์ให้มีการเตรียมพร้อมรับมือภาวะฉุกเฉิน รวมถึงการปรับปรุงอาคารสถานที่ราชการ โรงเรียน และโรงพยาบาลให้สามารถทนแรงสั่นสะเทือนได้ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพบว่า เมียนมายังขาดมาตรฐานด้านการก่อสร้างรองรับภัยแผ่นดินไหว และมีการขยายตัวของเมืองที่ไม่ได้คำนึงถึงภูมิประเทศ ทำให้ประเทศมีความเปราะบางต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้

“เมียนมา” ยังไม่ปลอดภัย เสี่ยง “แผ่นดินไหว” ต่อเนื่อง

สรุปข่าว

“เมียนมา” เผชิญแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ สูญเสียหนักกว่า 3,600 ชีวิต นักวิชาการเตือนยังมีความเสี่ยงเกิดซ้ำ ด้านนักธรณีวิทยาเตือนว่า “ประเทศไทย” โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันตก จำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

ด้านพลตรีซอว์ มิน ทุน โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมา แถลงว่า มีผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวแล้ว 3,645 ราย บาดเจ็บ 5,017 ราย และสูญหาย 148 ราย ขณะที่อาคารบ้านเรือนพังเสียหายเกือบ 49,000 หลัง และอาคารราชการเสียหายกว่า 2,100 หลัง และทางการเมียนมาประกาศภาวะฉุกเฉินใน 6 เมือง ได้แก่ สะกาย มัณฑะเลย์ พะโค มาเกว รัฐฉาน และเนปิดอว์ ขณะเดียวกัน สำนักงานป้องกันพลเรือนเมียนมาเปิดเผยว่า ได้ยุติปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยแล้ว และกำลังเข้าสู่ขั้นตอนการค้นหาร่างผู้เสียชีวิต

 

ข้อมูลจากกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ของไทย ระบุว่า ตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหวจนถึงวันที่ 10 เมษายน มีอาฟเตอร์ช็อกเกิดขึ้นรวมกว่า 439 ครั้ง ซึ่งแสดงถึงพลังงานที่ยังไม่คลายตัวเต็มที่ ซึ่งเมียนมาตั้งอยู่บนรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกอินเดียและยูเรเซีย จึงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง และยังคงมีแนวโน้มเกิดอีกในอนาคต

ส่วนด้านทีมกู้ภัยจากจีนเดินทางกลับถึงกรุงปักกิ่งแล้วเมื่อวันที่ 9 เมษายน หลังปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือเป็นเวลา 12 วัน โดยสามารถช่วยผู้รอดชีวิตได้ 9 ราย ตรวจสอบโครงสร้างอาคารและพื้นที่กว่า 287,000 ตารางเมตร และให้บริการคำปรึกษาทางการแพทย์แก่ผู้ได้รับผลกระทบกว่า 2,000 ราย

 

นักธรณีวิทยาเตือนว่า ประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันตก จำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากแรงสั่นสะเทือนจากรอยเลื่อนในเมียนมามีแนวโน้มส่งผลกระทบมายังพื้นที่ชายแดนไทยได้ ผู้เชี่ยวชาญจากหลายประเทศเห็นพ้องว่า เมียนมา และประเทศเพื่อนบ้าน ต้องเร่งจัดการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ภาวะฉุกเฉิน และการให้ความรู้แก่ประชาชน เพื่อลดผลกระทบจากแผ่นดินไหวในอนาคต

ที่มาข้อมูล : Reuters

ที่มารูปภาพ : Reuters

avatar

สุนิดา สวัสดิพรพัลลภ