หมาป่าไดร์วูลฟ์คืนชีพ? นักวิทย์ฯเตือนอย่าเพิ่งเชื่อ

การอ้างว่า บริษัท Colossal Bioscience สามารถคืนชีพ "ไดร์วูลฟ์" (Dire Wolf) สัตว์นักล่าขนาดใหญ่ที่สูญพันธุ์ไปจากโลกกว่า 12,500 ปี กลายเป็นประเด็นฮือฮาในวงการวิทยาศาสตร์โลก หลังมีรายงานว่า ปัจจุบันมี "ลูกหมาป่าคืนชีพ" แล้วถึง 3 ตัว ที่เกิดจากเทคโนโลยีตัดต่อพันธุกรรมและโคลนนิงช่วงปลายปีที่ผ่านมา

 

อย่างไรก็ตาม ศ. โครีย์ แบรดชอว์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศวิทยาจากมหาวิทยาลัยไฟล์นเดอร์ ประเทศออสเตรเลีย ตั้งข้อสงสัยว่า เรื่องนี้อาจเกินจริงไปมาก เนื่องจาก "เป็นไปไม่ได้" ที่จะฟื้นฟูพันธุกรรมของสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปนานขนาดนั้นได้อย่างสมบูรณ์ เพราะ DNA ที่หลงเหลือจากตัวอย่างฟอสซิลนั้นเสื่อมสภาพอย่างรุนแรงจนยากต่อการใช้งานในเชิงพันธุวิศวกรรม


“สิ่งที่เราเห็นอาจไม่ใช่ ‘ไดร์วูลฟ์’ จริง ๆ แต่เป็นเพียงหมาป่าสีเทาทั่วไปที่ถูกตัดต่อพันธุกรรมให้ดูคล้ายไดร์วูลฟ์เท่านั้น” แบรดชอว์กล่าว พร้อมระบุว่า บริษัท Colossal ยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพียงพอ เช่น ชุดจีโนมเปรียบเทียบ การลำดับ DNA หรือผลการทดลองแบบ peer-reviewed ที่รองรับคำกล่าวอ้างนี้

หมาป่าไดร์วูลฟ์คืนชีพ? นักวิทย์ฯเตือนอย่าเพิ่งเชื่อ

สรุปข่าว

การอ้างว่าโลกได้เห็น “ไดร์วูลฟ์” กลับมามีชีวิตอีกครั้ง หลังสูญพันธุ์ไปกว่า 12,500 ปี จุดประกายความตื่นเต้นและข้อกังขาไปพร้อมกันบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ Colossal Bioscience ซึ่งเคยเป็นข่าวใหญ่จากโครงการ “คืนชีพแมมมอธ” ออกมาเปิดเผยว่า ขณะนี้มีหมาป่าตัวใหม่ 3 ตัว ที่ใช้เทคนิค CRISPR ตัดต่อพันธุกรรม ให้คล้ายกับหมาป่ายุคน้ำแข็งอย่างไดร์วูลฟ์ โดยทั้งสามเกิดมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และเติบโตแข็งแรงดี แต่เรื่องนี้ก็ยังสร้างข้อกังขาให้กับบรรดานักวิทยาศาสตร์ว่าตกแล้วมันฟื้นคืนชีพจริงหรือไม่?

ในขณะเดียวกัน ทาง Colossal Bioscience ออกแถลงการณ์ว่า "ไดร์วูลฟ์ที่เกิดใหม่" ทั้งสามตัวนั้น ไม่ได้เป็นสายพันธุ์ไดร์วูลฟ์แท้ 100% แต่ใช้เทคนิค CRISPR ตัดต่อยีนของหมาป่าสีเทา (Gray Wolf) ให้มีลักษณะทางพันธุกรรมที่ “ใกล้เคียง” กับไดร์วูลฟ์ให้มากที่สุดเท่าที่เทคโนโลยีปัจจุบันจะทำได้ โดยอ้างอิงจากการลำดับจีโนมของไดร์วูลฟ์ที่เคยค้นพบในฟอสซิลเมื่อปี 2021


สำหรับ “ไดร์วูลฟ์” (ชื่อวิทยาศาสตร์ Aenocyon dirus) เป็นหนึ่งในหมาป่าขนาดใหญ่ที่เคยมีชีวิตอยู่ในยุคน้ำแข็งช่วงปลาย พบได้ทั่วไปในอเมริกาเหนือ มีลักษณะตัวใหญ่กว่าและมีกะโหลกแข็งแรงกว่าหมาป่าสมัยใหม่ โดยนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าไดร์วูลฟ์เป็นนักล่าที่มีพฤติกรรมเป็นฝูง คล้ายกับหมาป่าในปัจจุบัน

 

แม้จะมีรูปร่างคล้ายหมาป่า แต่การศึกษาทางพันธุกรรมเมื่อปี 2021 พบว่า ไดร์วูลฟ์และหมาป่าสีเทามีบรรพบุรุษร่วมกันที่ห่างไกลกันมาก และไม่ได้มีความใกล้เคียงกันเท่าที่เคยคาดไว้ ซึ่งหมายความว่า การคืนชีพไดร์วูลฟ์ต้องใช้การตัดต่อพันธุกรรมที่ซับซ้อนมาก และยังไม่สามารถสร้าง "สายพันธุ์เดิมแท้" ขึ้นมาใหม่ได้ในตอนนี้

ข่าวนี้กลายเป็นสัญญาณเตือนว่า แม้เทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์จะก้าวหน้าไปมาก แต่การฟื้นฟูสัตว์สูญพันธุ์ยังคงต้องเผชิญกับข้อจำกัดด้านพันธุกรรม จริยธรรม และการเปิดเผยข้อมูลเพื่อการตรวจสอบจากวงการวิทยาศาสตร์อย่างโปร่งใส

 

และแม้ความก้าวหน้าทางพันธุวิศวกรรมจะเปิดทางให้เราสามารถ "สร้างสิ่งมีชีวิตที่คล้ายอดีต" ได้ใกล้เคียงกว่าที่เคย แต่คำถามสำคัญที่ตามมาคือ การฟื้นสัตว์สูญพันธุ์ คือการรักษาธรรมชาติ หรือเป็นเพียงการแทรกแซงที่ไม่อาจควบคุม?

 

การพยายามปลุกสิ่งมีชีวิตจากยุคดึกดำบรรพ์ อาจไม่ได้แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน หากเราไม่หันกลับมา รักษาระบบนิเวศที่ยังมีอยู่ และดูแลสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ที่กำลังเผชิญวิกฤตในโลกจริง เพราะในท้ายที่สุด ความยั่งยืนอาจไม่ใช่แค่เรื่องของการ “คืนชีพ” แต่อยู่ที่การ “รักษาสิ่งที่ยังมีอยู่” ให้สมดุลกับโลกไปได้อีกนานที่สุด

ที่มาข้อมูล : Reuters

ที่มารูปภาพ : Reuters

avatar

สุนิดา สวัสดิพรพัลลภ

แท็กบทความ

หมาป่าไดร์วูลฟ์
คืนชีพหมาป่าไดร์วูลฟ์
หมาป่าโบราณ
สัตว์โบราณ
พันธุกรรมสัตว์
หมาป่าสีเทา