
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านทาง Facebook รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ระบุว่า ภัยคุกคามจากธรรมชาติทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยกว่า 90% เป็นเรื่องของสภาพภูมิอากาศ (ฝนตกหนัก น้ำท่วม ภัยแล้ง พายุ เป็นต้น) แต่อีกน้อยกว่า 10% เป็นเรื่องของแผ่นดินไหว ประกอบกับข้อมูลปัจจุบัน และในอนาคตภัยจากสภาพอากาศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ในขณะที่จำนวนแผ่นดินไหว (เกินขนาด 5M) ไม่ได้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต
ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน เราไม่สามารถคาดการณ์แผ่นดินไหวได้ การเตือนภัยจึงเป็นข้อจำกัด แต่สามารถเตือนสถานการณ์ฉุกเฉินจากแผ่นดินไหวได้ กล่าวคือจุดกำเนิดแผ่นดินไหวอยู่ที่มัณฑะเลย์ เมียนมา ห่างจาก กทม. ประมาณ 1,000 กม. เราจึงสามารถเตือนผู้ที่อยู่ห่างไกลจากจุดกำเนิดแผ่นดินไหวได้ แม้เวลามีอยู่จำกัด ทุกวินาทีมีคุณค่า จากการวิเคราะห์ Clip อาคาร สตง. ถล่มเราพบว่ามีเวลาน้อยกว่า 7 นาทีในการแจ้งเตือน (คลื่นแผ่นดินไหวมีความเร็วประมาณ 2-10 กิโลเมตรต่อวินาที (ขึ้นกับโครงสร้างธรณีสัญฐาน) ซึ่งเร็วกว่าความเร็วเสียง (343 เมตรต่อวินาที) ดังนั้นเวลาน้อยนิดจึงมีคุณค่ามากกับผู้ที่อยู่ในอาคาร สตง.ในขณะนั้น

สรุปข่าว
ในขณะเดียวกัน ผู้ที่อยู่ในอาคารสูงอื่นๆ ต้องพิจารณาว่าเวลาที่มีอยู่ 7 นาที ท่านสามารถวิ่งหนีลงมาทางบันไดหนีไฟ และออกจากอาคารได้หรือไม่ (ตัวอย่างหากท่านอยู่ชั้นสูงกว่าชั้น 5 ขึ้นไป) ถ้าอาคารที่ท่านอยู่พังถล่มลงมา ท่านก็ไม่สามารถหนีได้ทันกับเวลาที่คลื่นแผ่นดินไหวเคลื่อนตัวมาทำลายอาคารได้ ประกอบกับท่านวิ่งมาทางบันไดหนีไฟ ซึ่งเป็นอัตรายมากขณะเกิดแผ่นดินไหว เพราะการสั่นของอาคารมีความถี่ต่างกับการสั่นของบันไดหนีไฟที่จะเกิดการวิบัติได้ หลักสากลเขาจึงแนะนำให้หลบใต้โต๊ะ ระวังวัสดุ อุปกรณ์จากฝ้าเพดาน หลอดไฟ ผนังอาคารบางส่วนอาจจะทำให้ท่านได้รับบาดเจ็บได้ โดยหลีกเลี่ยงการวิ่งลงมาทางบันไดเด็ดขาด
หลายท่านยังคงฝังใจ และยกกรณีอาคาร สตง. ( ถ้าหลบอยู่ใต้โต๊ะก็ไม่มีโอกาสรอด ?) แต่ท่านต้องไม่ลืมว่า อาคาร สตง. เป็นอาคารเดียวในกว่า 3,000 อาคารที่เกิดการวิบัติ (ความเสี่ยง < 0.03%) อาคารอื่นๆแม้ได้รับความเสียหาย แต่โดยส่วนใหญ่ไม่ใช่ความเสียหายในโครงสร้างหลัก (เสา คาน พื้น ปล่องลิพต์) นอกจากนี้ เราต้องเชื่อในกฎหมายควบคุมอาคาร (กฏกระทรวงแผ่นดินไหว) ที่กลั่นกรองโดยผู้เชี่ยวชาญ ยกกรณีเหตุการณ์ครั้งนี้ อัตราเร่งที่มากระทำต่อตัวอาคาร ประมาณ 0.06g (ข้อมูล Sensor กรมอุตุฯ) ซึ่งนำไปประเมินแรงที่ใช้ในการออกแบบอาคาร พบว่ายังไม่รุนแรงเท่ากับกฎกระทรวงฯ (0.2-0.3g) ดังนั้นอาคารสูงจึงสามารถต้านทานแผ่นดินไหวได้ในกรณีนี้
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมา เราต้องยอมรับว่าระบบเตือนภัยมีปัญหา ดูจาก Timeline พบว่าศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ศภช.) ได้รับรายงานจากกรมอุตุฯในเวลา 13.36 น. ซึ่งเป็นเวลาหลังเกิดแผ่นดินไหว 16 นาที และอาคาร สตง. ได้ถล่มลงมาแล้ว จากนั้น ศภช. ได้ส่งข้อมูล Hot line, E-mail, Fax, Web. FB, Line และ sms ไปยังผู้บังคับบัญชา ผู้บริหารหน่วยงาน รวมทั้งเครือข่ายสื่อมวลชน ภายใน 8 นาที (เวลา 13.44 น.) จากนั้นมีประกาศจากกรมอุตุฯในเวลา 13.50 น. ศภช. ได้ส่ง sms 4 ครั้งถึงแนวปฏิบัติต่างๆให้กับ กสทช. เพื่อกระจายข้อมูลต่อไปยังภาคประชาชน โดย ศภช. ได้ทำตาม SOP ภายในเวลาทั้งหมด 16 นาที (ตาม SOP กำหนดไว้ภายใน 30 นาที) ด้วยข้อจำกัดของระบบ sms ที่ต้องทราบเบอร์เป้าหมาย ประกอบกับปริมาณการใช้เครือข่ายที่สูงมากในเวลานั้นทำให้การกระจายข้อมูลโดย sms มีข้อจำกัด (สามารถส่งได้ชั่วโมงละ 200,000-300,000 เบอร์ รายงานจาก กสทช.) ผู้อาศัยใน กทม. กว่า 10 ล้านคน โดยส่วนใหญ่จึงไม่ได้รับ และอีกหลายส่วนได้รับช้ามาก เกิดภาวะตระหนก ตกใจ ออกมาในที่โล่งแจ้ง การจราจรติดขัดตามที่เป็นข่าวข้างต้น
ที่มาข้อมูล : รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์
ที่มารูปภาพ : Reuters

วาสนา ชูติสินธุ