เตือนภาคเหนือ-กลางระวังพายุฤดูร้อน ภาคใต้ฝนเพิ่มระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก

นายสมควร ต้นจาน ผู้อำนวยการกองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา เผยว่า วันนี้ (4 เม.ย.68) มวลอากาศเย็นที่แผ่ปกคลุมภาคอีสานและทะเลจีนใต้ มีกำลังอ่อนลง ประกอบกับมีลมฝ่ายตะวันออก ลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุม ทำให้มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นบางแห่ง ส่วนใหญ่เกิดขึ้นด้านตะวันตกของภาคเหนือ ภาคกลาง โดยเป็นพายุฝนฟ้าคะนอง มีลมกระโชกแรง บริเวณประเทศไทยตอนบน ยังต้องเฝ้าระวังพายุฤดูร้อน พี่น้องเกษตรกรชาวสวนต้องเฝ้าระวัง พายุฤดูร้อน ลมกระโชกแรง สำหรับภาคใต้ จะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ได้อีก 1 วัน จากลมตะวันออกกำลังปานกลางพัดปกคลุม ระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก คลื่นลมบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง คลื่นสูง ต้องเฝ้าระวัง และติดตามข่าวพยากรณ์อากาศ จากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด 

เตือนภาคเหนือ-กลางระวังพายุฤดูร้อน ภาคใต้ฝนเพิ่มระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก

สรุปข่าว

พยากรณ์อากาศช่วงวันที่ 5-7 เมษายน ลมเปลี่ยนทิศ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนอง ส่วนภาคใต้ยังมีฝนบางแห่ง ระหว่างวันที่ 8-18 เมษายน พายุฤดูร้อนจะสลับกับอากาศร้อนเป็นระยะๆ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคกลางตอนตะวันตก ในช่วงสงกรานต์ 13-15 เมษายน ประเทศไทยตอนบนอาจมีพายุฤดูร้อนเพิ่มขึ้น

ช่วงวันที่ 5-7 เม.ย.68 ลมเปลี่ยนทิศ เป็นลมทิศใต้(พัดจากอ่าวไทย) ลมตะวันออกเฉียงใต้ พัดปกคลุม ประกอบกับลมตะวันตกพัดปกคลุมภาคเหนือ ภาคอีสาน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนอง   ส่วนภาคใต้ยังมีฝนบางแห่ง 

 

ช่วงวันที่ 8-18 เม.ย.68 ช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ ประเทศไทยตอนบนยังมีพายุฤดูร้อน (ฝนฟ้าคะนอง)สลับกับอากาศร้อน เป็นระยะๆ เนื่องจากยังมีมวลอากาศเย็นแผ่ลงมาปกคลุมทางด้านตะวันออกของภาคอีสาน ทำให้ทิศทางลมแปรปรวน และยังมีลมตะวันตกพัดปกคลุมทางภาคเหนือ ภาคกลางทางด้านตะวันตก 

ส่วนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ (13-15 เม.ย.68) ประเทศไทยตอนบนอาจเจอฝน จะมีพายุฤดูร้อนเพิ่มขึ้นต้องติดตามและเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ส่วนภาคใต้ยังมีฝนบางแห่งตลอดช่วง ฤดูร้อนปีนี้คาดว่าอากาศจะไม่ร้อนแรงเหมือนปีที่แล้ว จะมีอากาศร้อนเป็นช่วงๆ ในวันที่มีเมฆน้อย ฝนน้อย แดดจะแรง เนื่องจากดวงอาทิตย์จะเลื่อนขึ้นมาตั้งฉากกับประเทศไทยมากขึ้น และมีพายุฤดูร้อนมาสลับในบางวัน ต้องระวังพายุฤดูร้อน มาเร็ว แรง อาจสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน แม้ปริมาณในระยะนี้อาจจะไม่มากนัก แต่พอช่วยให้บางพื้นที่มีความชุ่มชื้น คลายร้อนได้ แต่ยังมีบางพื้นที่ที่มีฝนน้อย หากมีฝนตกควรหาภาชนะสำรองน้ำไว้ใช้เพื่ออุปโภคและบริโภค ส่วนน้ำเพื่อการเกษตรอาจยังไม่เพียงพอในฤดูร้อนนี้

ที่มาข้อมูล : เฟซบุ๊ก Somkuan Tonjan

ที่มารูปภาพ : กรมอุตุนิยมวิทยา

avatar

วาสนา ชูติสินธุ