
ปรากฏการณ์ “ปะการังฟอกขาว” ในปี 2024 เป็นสัญญาณเตือนถึงผลกระทบที่รุนแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อระบบนิเวศทางทะเล เนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นและส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล และรุนแรงขึ้นจากอิทธิพลของเอลนีโญ โดยในประเทศไทยมีรายงานปะการังฟอกขาวในอุทยานแห่งชาติทางทะเลถึง 21 แห่ง ทั้งในทะเลอันดามันและอ่าวไทย
ด้านองค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐฯ (NOAA) ระบุว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญลดต่ำลงและสิ้นสุดในช่วงปลายปี 2024 จากนั้นเข้าสู่สภาวะเป็นกลางก่อนจะเปลี่ยนเข้าสู่ลานีญาและคาดว่าจะสิ้นสุดในเดือนเมษายน 2025

สรุปข่าว
ล่าสุด ผส.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat เปรียบเทียบสภาพปะการังในช่วงปี 2024 กับ 2025 โดยระบุว่า คณะประมงมีจุดติดตามทะเลระยะยาว จึงเทียบปะการังช่วงเดียวกันของปีที่แล้วกับปีนี้ให้เพื่อนธรณ์ดูชัดๆ น้ำไม่ร้อน ปีนี้คงไม่ฟอกขาว จุดติดตามของเรามีทั้งอ่าวไทยและอันดามัน ยังมีความร่วมมือกับสิงห์เอสเตท มีจุดติดตามในมัลดีฟส์ เราจะไปสำรวจเป็นระยะ ถ่ายภาพมุมเดิม เช็คปะการังแต่ละโคโลนี เช็คคุณภาพน้ำ อุณหภูมิน้ำ ฯลฯ เพื่อดูว่าปะการังเป็นอย่างไรบ้าง
ภาพดังกล่าวส่งตรงมาจากทีมวิจัยที่ครอสโรด มัลดีฟส์ ปะการังฟื้นตัวเยอะ ไม่มีโรคปะการัง แม้มีบางพุ่มตาย ก็มีแนวโน้มว่าพวกที่เหลือจะค่อยๆ ขึ้นไปปกคลุม ยังมีตัวอ่อนปะการังลงเกาะเยอะมาก จากการประเมินเบื้องต้นทั้งในไทยและมัลดีฟส์ บอกได้ว่าแนวปะการังสุขภาพดี ปีนี้คงไม่มีปัญหาอะไร แต่โลกร้อนไม่จบ ยังแรงขึ้นเรื่อยๆ หากเอลนีโญครั้งหน้ามาเมื่อไหร่ ก็ได้แต่ดูแลปะการังให้ดีที่สุด รักษาระบบนิเวศให้แข็งแรง มีสัตว์น้ำหลากหลาย หวังว่าจะปรับตัวได้ นำข่าวดีมาให้เพื่อนธรณ์ อย่างน้อยปีนี้ก็รอดครับ
ที่มาข้อมูล : เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat
ที่มารูปภาพ : เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat

วาสนา ชูติสินธุ