หนึ่งในแนวทางที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน คือ "Upcycle" หรือการนำวัสดุเหลือใช้มาสร้างสรรค์ใหม่ให้มีมูลค่าเพิ่ม เป็นกระบวนการเปลี่ยนของที่ไม่ใช้แล้วหรือวัสดุเหลือใช้ให้กลายเป็นสิ่งของใหม่ที่มีคุณค่า แตกต่างจาก Recycle แม้ทั้งสองแนวคิดจะมีจุดประสงค์คล้ายกันคือการลดขยะและส่งเสริมความยั่งยืน แต่ก็มีความแตกต่างที่สำคัญ
Upcycle คือ ไม่ต้องผ่านกระบวนการย่อยสลายหรือแปรรูปทางเคมี เน้นการเพิ่มมูลค่าด้วยความคิดสร้างสรรค์และการดัดแปลง เช่น เปลี่ยนยางรถยนต์เก่าให้เป็นชิงช้าหรือเฟอร์นิเจอร์ ใช้พลังงานน้อยกว่า และช่วยรักษาเอกลักษณ์ของวัสดุเดิม
สรุปข่าว
ขณะที่ Recycle จะเป็นการนำวัสดุไปย่อยสลายหรือหลอมใหม่เพื่อผลิตเป็นสินค้าชนิดเดิมหรือใหม่มักต้องใช้พลังงานและกระบวนการอุตสาหกรรม เช่น การหลอมแก้วหรือพลาสติก และช่วยลดการใช้ทรัพยากรใหม่ แต่ผลิตภัณฑ์ที่ได้อาจมีคุณภาพต่ำกว่าวัสดุเดิม
สำหรับแนวคิว Upcycle ทำได้ง่ายกว่า และเป็นที่นิยมในกลุ่มงานศิลปะ อย่างเช่นที่อิรัก มีศิลปินคนหนึ่งนำวัสดุที่ถูกทิ้งมาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะ เขามีชื่อว่าซาลวาน คารีม ศิลปินและช่างไม้ชาวอิรัก วัย 31 ปี นำวัสดุที่ถูกทิ้งอย่างสกรู ปุ่มคีย์บอร์ด และฝาขวด มาเปลี่ยนให้กลายเป็นงานศิลปะสไตล์พิกเซลที่ไม่เหมือนใคร ผลงานของคารีมมักทำให้ผู้ชมประหลาดใจ เพราะรายละเอียดในงานศิลปะของเขาจะไม่ปรากฏชัดเจนเมื่อมองในระยะใกล้ เขาจึงแนะนำให้ผู้ชมองจากระยะไกล เพื่อสัมผัสถึงความงดงามที่แฝงอยู่ในรายละเอียด ศิลปินผู้นี้บอกว่าเขาไม่เพียงต้องการสร้างสรรค์งานศิลปะที่แปลกใหม่ แต่ยังต้องการให้ผู้คนตระหนักเรื่องความยั่งยืนและการเห็นคุณค่าของสิ่งของที่คนมองข้าม ผลงานของเขาไม่ใช่แค่การประดิษฐ์ แต่เป็นการบอกเล่าเรื่องราวของการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์และตระหนักถึงผลกระทบที่เรามีต่อสิ่งแวดล้อม
ที่มาข้อมูล : กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ที่มารูปภาพ : TNN EARTH