
จากการค้นพบ "โครงกระดูกมนุษย์อายุ 29,000 ปี" ที่อุทยานแห่งชาติสามร้อยยอด นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพภูมิประเทศในอดีต ที่ครั้งหนึ่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เคยเป็นผืนแผ่นดินเดียวกัน ก่อนถูกน้ำทะเลกลืนหายไปเมื่อหลายหมื่นปีก่อน
ดินแดนแห่งนี้คือ ซุนดาแลนด์ (Sundaland) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อราว 2.6 ล้านปีก่อน และมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามระดับน้ำทะเลในยุคน้ำแข็ง (Ice Age) ในช่วงที่แผ่นดินโผล่มากที่สุด ซุนดาแลนด์มีพื้นที่กว่า 1.8 ล้านตารางกิโลเมตร โดยประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เคยเชื่อมต่อกันเป็นผืนดินเดียว มีเพียงร่องน้ำตื้นๆ กั้นระหว่างเอเชียกับออสเตรเลีย
ในยุคนั้น ระดับน้ำทะเลต่ำกว่าปัจจุบันราว 120 เมตร ทำให้พื้นที่ที่เป็นทะเลในปัจจุบันเคยเป็นที่ราบกว้างใหญ่ ต่อมาเมื่อ 18,000 - 5,000 ปีก่อน ระดับน้ำทะเลค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้น จนกระทั่งท่วมพื้นที่ซุนดาแลนด์ และกลายเป็นภูมิประเทศเช่นปัจจุบัน

สรุปข่าว
หลายเกาะของประเทศไทย คือ อดีตภูเขาเมื่อหลายหมื่นปี
จากหลักฐานทางธรณีวิทยา พบว่าเกาะต่างๆ ของไทย เช่น เกาะช้าง เกาะสมุย และเกาะภูเก็ต เดิมเป็นยอดภูเขาที่อยู่บนผืนแผ่นดินซุนดาแลนด์ ก่อนที่ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้นจนปกคลุมพื้นที่ราบ และเหลือเพียงยอดเขาโผล่พ้นน้ำกลายเป็นเกาะต่างๆ ที่เราเห็นในปัจจุบัน
ประเทศไทยไม่มีเกาะภูเขาไฟหรือเกาะปะการังแบบประเทศอื่นๆ แต่มีเพียง “เกาะริมทวีป” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินเดิม นอกจากนี้ยังพบว่าไม่มีเกาะใดในประเทศไทยที่อยู่บริเวณน้ำลึกเกิน 120 เมตร แม้แต่หมู่เกาะสิมิลันก็ยังอยู่ในระดับน้ำที่ไม่ลึกมาก
ย้อนอดีต 29,000 ปี – สามร้อยยอดเคยเป็นที่ราบล่าสัตว์ของมนุษย์โบราณ
หากย้อนกลับไปในยุคของ "น้องปังปอนด์" หรือเมื่อ 29,000 ปีก่อน พื้นที่สามร้อยยอดยังห่างไกลจากทะเล และเป็นพื้นที่ราบลุ่ม เต็มไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด มนุษย์ในยุคนั้นอาศัยอยู่เป็นกลุ่มเล็กๆ ใช้ชีวิตด้วยการล่าสัตว์และหาของป่า โดยบางกลุ่มเลือกตั้งถิ่นฐานบริเวณถ้ำในพื้นที่ดังกล่าว
นักโบราณคดีได้พบหลักฐานภาพเขียนก่อนการขุดค้นโครงกระดูก ซึ่งถูกฝังอยู่ใต้ดินลึก ประมาณ 2 เมตร การค้นพบครั้งนี้ถือเป็นหลักฐานสำคัญที่ช่วยให้เข้าใจถึงวิถีชีวิตมนุษย์โบราณในประเทศไทยมากขึ้น
ปัจจุบัน กรมศิลปากรและกรมอุทยานแห่งชาติฯ กำลังดำเนินการศึกษาเพิ่มเติมในพื้นที่ และยังไม่เปิดให้ประชาชนเข้าชม
อดีตที่หายไป…กับอนาคตที่อาจเกิดขึ้น
การค้นพบครั้งนี้เป็นตัวอย่างสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อหลายหมื่นปีก่อน ผศ.ดร.ธรณ์ ยังกล่าวเสริมว่า โลกในปัจจุบันกำลังเผชิญกับภาวะโลกร้อน ซึ่งอาจส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอีกครั้ง
"อีกไม่นาน เราอาจได้เห็น เกาะตึกใบหยก หรือ เกาะตึกมหานคร " – ผศ.ดร.ธรณ์ ได้ให้ความเห็นไว้บนเฟซบุ๊ก สะท้อนการแจ้งเตือนว่า หากโลกร้อนยังคงดำเนินต่อไป ระดับน้ำทะเลอาจสูงขึ้นจนกลืนกินพื้นที่ชายฝั่งและเมืองต่าง ๆ อีกครั้ง เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับซุนดาแลนด์ในอดีต
ที่มาข้อมูล : ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
ที่มารูปภาพ : TNN