โลกร้อนทำลมพัดแผ่วลง
ทำวงการพลังงานสะอาดสั่นคลอน

งานวิจัยล่าสุดเผยว่า ภาวะโลกร้อนอาจทำให้ฤดูร้อนในยุโรปมีลมพัดเบาลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตพลังงานลมในระยะยาว นักวิทยาศาสตร์พบว่าแนวโน้มนี้เกิดจากภาวะ "stilling" หรือการลดลงของความเร็วลม ซึ่งเป็นผลมาจากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทั้งบนพื้นดินและในชั้นโทรโพสเฟียร์ (Troposphere) ซึ่งเป็นชั้นบรรยากาศที่อยู่ใกล้พื้นโลกมากที่สุด งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Research Letters โดยมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์บานา-แชมเปญ ระบุว่าความเร็วลมอาจลดลงถึง 5% ระหว่างปี 2021 ถึง 2050 ไม่เพียงแต่ในยุโรป แต่ยังรวมถึงเขตละติจูดกลางทางตอนเหนือ เช่น อเมริกาเหนือ

แม้การเปลี่ยนแปลงของความเร็วลมจะดูเล็กน้อย แต่ก็สามารถสร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการผลิตพลังงาน เนื่องจากยุโรปกำลังพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ในฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วงปี 2021 ยุโรปเผชิญกับ ‘ภาวะลมสงบ’ (wind drought) ซึ่งหมายถึงช่วงเวลาที่ความเร็วลมต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติถึง 15% โดยเฉพาะในสหราชอาณาจักรที่ประสบกับช่วงเวลาที่มีลมน้อยที่สุดในรอบ 60 ปี ทำให้การผลิตพลังงานลมลดลงอย่างมาก จนต้องนำโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ปิดไปแล้วกลับมาเดินเครื่องอีกครั้งเพื่อชดเชยพลังงานที่ขาดหายไป

โลกร้อนทำลมพัดแผ่วลง
ทำวงการพลังงานสะอาดสั่นคลอน

สรุปข่าว

ภาวะโลกร้อนทำให้ลมยุโรปพัดแผ่วลง ส่งผลต่อการผลิตพลังงานลมและอาจกระทบต้นทุนพลังงานในอนาคต ยุโรปต้องเร่งหาทางปรับตัวเพื่อความมั่นคงทางพลังงานหมุนเวียน

แม้จะมีหลักฐานเกี่ยวกับภาวะลมสงบเพิ่มขึ้น แต่ยังคงมีความไม่แน่นอนในข้อมูล นักวิจัยบางส่วนเห็นว่า การวัดความเร็วลมอาจได้รับอิทธิพลจากภูมิประเทศและสิ่งปลูกสร้างโดยรอบ ทำให้การเก็บข้อมูลมีความคลาดเคลื่อน นอกจากนี้ ฐานข้อมูลที่มีอยู่ยังไม่สามารถบันทึกเหตุการณ์สุดขั้วได้ดีพอ ซึ่งเป็นปัญหาที่ถูกมองข้ามมานาน อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) คาดการณ์ว่าในช่วงหลายทศวรรษข้างหน้า ความเร็วลมจะลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยอาจลดลงมากถึง 10% ภายในปี 2100

แม้ว่าข้อมูลที่มีอยู่จะมีข้อจำกัด แต่งานวิจัยล่าสุดที่ใช้ชุดข้อมูลใหม่และการจำลองที่ซับซ้อนขึ้น พบว่ายุโรปกำลังเผชิญกับ "ภาวะลมสงบในฤดูร้อน" ที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับงานวิจัยอื่น ๆ ที่ระบุว่าความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกจะส่งผลกระทบต่อความเร็วลมในระดับที่สามารถวัดได้อย่างมีนัยสำคัญในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษนี้

ผลกระทบของลมที่อ่อนกำลังลงต่อพลังงานหมุนเวียนของยุโรปยังคงเป็นประเด็นที่ต้องศึกษาเพิ่มเติม ปัจจุบันพลังงานลมคิดเป็น 17% ของปริมาณไฟฟ้าในสหภาพยุโรป และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีโครงการใหม่บางส่วนที่ล่าช้า ข้อดีของพลังงานลมคือยังมีต้นทุนต่ำกว่าพลังงานฟอสซิล เช่น ก๊าซธรรมชาติ แต่หากความเร็วลมลดลง 5% ก็อาจทำให้การผลิตพลังงานลมแปรปรวนมากขึ้น

ศาสตราจารย์กัน จาง (Gan Zhang) นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศและผู้นำการวิจัยครั้งนี้ เตือนว่าแม้ความเร็วลมจะลดลงเพียง 5% ก็อาจทำให้การผลิตพลังงานเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ "ระบบพลังงานเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง ซึ่งหมายความว่า หากอัตราการผลิตพลังงานเปลี่ยนไปเพียง 5-10% อาจทำให้ราคาพลังงานเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก" และเพื่อลดผลกระทบจากการลดลงของความเร็วลม ยุโรปอาจต้องหาวิธี กระจายแหล่งพลังงานหมุนเวียน และพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น การกักเก็บพลังงานลม หรือเพิ่มการลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาลมมากเกินไปในอนาคต

ที่มาข้อมูล : euronews

ที่มารูปภาพ : Reuters