"โลมาอิรวดี" เหลือ 14 ตัวสุดท้าย ครม.อนุมัติงบ 402 ล้านอนุรักษ์ด่วน

นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติกรอบค่าใช้จ่ายสำหรับแผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา ในระยะ 5 ปีแรก วงเงินกว่า 402 ล้านบาท โดยจะใช้จ่ายจากเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ และกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กองทุน ววน.) เป็นลำดับแรก หากงบประมาณไม่เพียงพอ หน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมประมง จะต้องเสนอขอรับจัดสรรจากงบประมาณประจำปี หรือ แหล่งเงินอื่นเพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่าย

สำหรับแผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีฯ ประกอบด้วย 6 แผนงานหลัก ได้แก่ การลดภัยคุกคามและการฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัย การศึกษาวิจัยนิเวศวิทยาและชีววิทยาของโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา และการวิจัยเพื่อเพิ่มประชากรโลมาอิรวดี ซึ่งการดำเนินการตามแผนดังกล่าว จะช่วยลดสาเหตุการตายและภัยคุกคามต่อโลมาอิรวดี ช่วยเพิ่มจำนวนประชากรโลมาอิรวดีผ่านการอนุรักษ์ที่มีประสิทธิภาพ และยังช่วยฟื้นฟูความสมบูรณ์ของทะเลสาบสงขลา พร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพื่อสร้างรายได้ยั่งยืนให้แก่ชุมชนในพื้นที่

"โลมาอิรวดี" เหลือ 14 ตัวสุดท้าย ครม.อนุมัติงบ 402 ล้านอนุรักษ์ด่วน

สรุปข่าว

คณะรัฐมนตรีอนุมัติวงเงิน 402 ล้านบาทเพื่ออนุรักษ์โลมาอิรวดีที่เหลืออยู่เพียง 14 ตัวสุดท้ายในทะเลสาบสงขลา ภายใน 5 ปี สำหรับแผนประกอบด้วยการฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัยและเพิ่มประชากรโลมา ขณะที่โลมาอิรวดีอยู่ในน้ำจืดเพียง 5 แห่ง อินเดีย 140 ตัว อินโดนีเซีย 90 ตัว เมียนมา 80 ตัว กัมพูชา 90 ตัว ไทย 14 ตัว

อย่างไรก็ตาม โลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2565 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยเสนอให้อนุรักษ์โลมาอิรวดี 14 ตัวฝูงสุดท้ายของทะเลสาบสงขลา ซึ่งโลมาน้ำจืดที่หายากของไทยหลังจากการสำรวจเมื่อ 30 ปี ก่อนพบว่ามีโลมาอิรวดีมากว่า 100 ตัว แต่ในปัจจุบันประเทศไทยพบเหลือเพียงแค่ 14 ตัวเท่านั้น และเป็นโลมาฝูงสุดท้ายที่เหลือรอดชีวิตแล้วในทะเลสาบสงขลา

ขณะที่ โลมาอิรวดีอยู่ในน้ำจืดเพียง 5 แห่ง อินเดีย 140 ตัว อินโดนีเซีย 90 ตัว เมียนมา 80 ตัว กัมพูชา 90 ตัว ไทย 14 ตัว

ทั้งนี้ โลมาอิรวดี จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครอง พ.ศ.2535 นอกจากนี้ยังเป็นสัตว์ที่ได้รับการคุ้มครองตามข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยในการประชุม CITES ครั้งที่ 13 เมื่อปี พ.ศ.2546 ประเทศไทยได้เสนอให้โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองบัญชีที่ 1 อันมีผลทำให้โลมาอิรวดีได้รับความคุ้มครองสูงสุดในระดับนานาชาติ