
“ดร.สนธิ คชวัฒน์” ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวถึงการที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47 ลงนามถอน สหรัฐอเมริกาออกจากข้อตกลงปารีส ที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อจำกัดภาวะโลกร้อนให้อยู่ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส แต่จะดีกว่าหากอยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส
โดย ระบุว่า ผลกระทบที่ตามมา สหรัฐอเมริกาจะถอนเงินจำนวน 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ออกจากกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund: GCF) เป็นกองทุนด้านสภาพภูมิอากาศที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบในอนาคตเมื่อไม่มีเงินในส่วนนี้ประเทศที่กำลังพัฒนาและประเทศกลุ่มเปราะบาง มีการปล่อยก๊าซส่องกระจกเพิ่มมากขึ้น และไม่มีเงินทุนในการป้องกันและรับมือกับภัยพิบัติให้กับประเทศเหล่านี้

สรุปข่าว
ต่อมา คือ การที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประกาศว่าโลกร้อนไม่มีจริง แล้วจะมีการเพิ่มการขุดเจาะน้ำมัน แก๊สธรรมชาติ และทำเหมืองถ่านหินเพิ่มขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาดีขึ้น และไม่มีการสนับสนุนพลังงานสีเขียว ผลที่ทำมาคือจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ดังนั้น เป้าหมายการลดโลกร้อนไม่ให้เกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส และเปลี่ยนผ่านมาสู่พลังงานสะอาดให้ได้ร้อยละ 40 ภายในปี 2030 จึงเป็นไปไม่ได้แล้ว
สำหรับประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยแต่กลับได้รับผลกระทบด้านภัยพิบัติติดหนึ่งใน 10 ของโลก หากประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับสองของโลกถอนตัวจากข้อตกลงปารีสนี้ก็จะส่งผลกระทบกับระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น 0.8 นิ้วต่อปี และภัยพิบัติจะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะ “ภัยพิบัติแบบสุดขั้ว” คือ พายุจะแรงขึ้น หนาว-ร้อน มากขึ้น และ เกิดปรากฏการณ์ “ฝนตกแช่” หรือ “เรนบอมบ์”นานขึ้น จึงฝากไปถึงรัฐบาลอาจต้องเตรียมตัวรับมือกับนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ ที่จะส่งผลให้เกิดวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมของไทยหนักขึ้น
ที่มาข้อมูล : Sonthi Kotchawat
ที่มารูปภาพ : REUTERS