เคาะแล้ว "ภาษีคาร์บอน" เดินหน้าหนุน "เศรษฐกิจสีเขียว" ยืนยันไม่กระทบราคาน้ำมัน
“ภาษีคาร์บอน” หรือ Carbon Tax เป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลใช้เพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
หลักการของภาษีคาร์บอน คือ “การตั้งราคา” ผู้ปล่อยก๊าซ CO₂ (เช่น โรงงานอุตสาหกรรม ผู้ผลิตไฟฟ้า หรือบริษัทที่ใช้พลังงานฟอสซิล) จะต้องจ่ายเงินตามปริมาณการปล่อยก๊าซ CO₂ ของตน
นอกจากนี้ยังมี “แรงจูงใจ” การเก็บภาษีทำให้บริษัทต่าง ๆ พยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น เปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด หรือปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เพื่อลดต้นทุน และสุดท้ายคือ “การสนับสนุนสิ่งแวดล้อม” รายได้จากภาษีคาร์บอนมักถูกนำไปใช้สนับสนุนโครงการด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การพัฒนาพลังงานหมุนเวียน การปลูกป่า หรือการช่วยเหลือชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สรุปข่าว
ตัวอย่างการนำไปใช้ อย่างในยุโรป ประเทศอย่างสวีเดนและฝรั่งเศสได้นำภาษีคาร์บอนมาใช้เพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล หรือในฝั่งเอเชีย ประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ก็มีการบังคับใช้ภาษีคาร์บอนในรูปแบบต่างๆ
ข้อดีของภาษีคาร์บอน อย่างแรกคือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนในเทคโนโลยีพลังงานสะอาด และสร้างรายได้ให้รัฐบาลสำหรับโครงการสิ่งแวดล้อม
แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อกังวลว่า ภาษีคาร์บอนอาจเพิ่มต้นทุนสินค้าหรือบริการ ทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบ และอาจจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมบางประเภท เช่น อุตสาหกรรมพลังงานหรือการผลิตที่ใช้พลังงานสูง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องออกแบบนโยบายอย่างรอบคอบเพื่อให้มีความเป็นธรรม
ล่าสุด นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการคลังกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ซึ่งกำหนดให้มีกลไกราคาคาร์บอนในโครงสร้างภาษีสรรพสามิตน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน
เพื่อเป็นกลไกในการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และช่วยในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่ให้ความสำคัญต่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมาตรการนี้จะไม่มีผลกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันใด ๆ ทั้งสิ้น
สำหรับร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ประกอบด้วย
1. สินค้าที่จะกำหนดกลไกราคาคาร์บอน ได้แก่ น้ำมันเบนซินและน้ำมันที่คล้ายกัน แก๊สโซฮอล์ประเภทต่าง ๆ น้ำมันก๊าดและน้ำมันที่จุดให้แสงสว่างที่คล้ายกัน น้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่น น้ำมันดีเซลและน้ำมันอื่นๆ ที่คล้ายกัน ไบโอดีเซลประเภทต่างๆ LPG ก๊าซโพรเพรนและก๊าซที่คล้ายกัน น้ำมันเตาและน้ำมันที่คล้ายกัน
2. กำหนดราคาคาร์บอนน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันเบื้องต้นที่ 200 บาทต่อตันคาร์บอนเทียบเท่า
3. กำหนดกลไกราคาคาร์บอนในโครงสร้างภาษีสรรพสามิตเท่ากับ ราคาคาร์บอนที่กำหนดคูณกับค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Factor) ของน้ำมันแต่ละชนิด
ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมาย Carbon Neutrality 2050 และเน็ต ซีโร่ (Net Zero) 2065 ประกอบกับอุตสาหกรรมยานยนต์และน้ำมันที่เป็นต้นทางของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึงร้อยละ 70 จากทั้งหมด
กระทรวงการคลังให้ความสำคัญในประเด็นดังกล่าว จึงกำหนดกลไกราคาคาร์บอนภาคบังคับมีขึ้นเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อรองรับกับการพัฒนาประเทศ ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวจะสร้างโอกาสในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่ให้ความสำคัญต่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
เตรียมความพร้อมและการสร้างมาตรฐานสากลให้กับผู้ประกอบการที่จะส่งสินค้าไปยังประเทศที่มีการบังคับใช้ มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน หรือ ซีแบม (CBAM) ได้เตรียมตัวและสามารถใช้ราคาคาร์บอนนี้ในกรณีที่จะมีการจัดเก็บมูลค่าส่วนต่างราคาคาร์บอนจากสินค้าที่จะนำเข้าไปในประเทศนั้น ๆ