"America First" กู้เศรษฐกิจสหรัฐ แต่ทำลายสิ่งแวดล้อมโลก
ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย โพสเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโลกจากนโยบาย "America First" ของโดนัลด์ ทรัมป์
นโยบาย "America First" ของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐอเมริกา เป็นการประกาศให้เศรษฐกิจของชาวอเมริกันมีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด แต่ในขณะเดียวกัน นโยบายดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโลกอย่างรุนแรง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น อันเป็นผลมาจากการเน้นการพัฒนาเชื้อเพลิงฟอสซิลและการลดบทบาทของสหรัฐอเมริกาในความร่วมมือระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม ต่อไปนี้คือผลกระทบที่สำคัญจากนโยบายดังกล่าว
เริ่มจากการถอนตัวจากความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Paris Agreement) สหรัฐอเมริกาภายใต้การบริหารของทรัมป์ ได้ถอนตัวออกจากความตกลงปารีส ซึ่งเป็นข้อตกลงระดับโลกเพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยแม้ว่าสหรัฐจะเป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 15% ของปริมาณทั้งหมดในโลก แต่รัฐบาลกลับระงับการสนับสนุนงบประมาณให้กับกองทุนสภาพอากาศสีเขียว (Green Climate Fund) ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การกระทำดังกล่าวทำให้หลายประเทศขาดงบประมาณในการพัฒนานวัตกรรมสีเขียว และอาจส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น รวมถึงขาดทรัพยากรในการป้องกันและฟื้นฟูจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น
สรุปข่าว
ตามมาด้วยปัญหาการเพิ่มการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยทรัมป์ประกาศนโยบายสนับสนุนการขุดเจาะและผลิตน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน รวมถึงการยกเลิกการอุดหนุนพลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวน 225 แห่งได้รับอนุญาตให้ดำเนินการต่อ ส่งผลให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นอย่างมาก การกระทำดังกล่าวบ่อนทำลายเป้าหมายของโลกในการลดการปล่อยคาร์บอนลง 40% ภายในปี 2030 และทำให้ความฝันในการบรรลุ Net Zero หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 อาจกลายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้
ขณะที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนก็อาจตึงเครียดขึ้น การกำหนดภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนของทรัมป์ ก่อให้เกิดความตึงเครียดทางเศรษฐกิจ บริษัทในจีนหลายแห่งต้องย้ายฐานการผลิตมายังประเทศอื่น รวมถึงประเทศไทย การเพิ่มขึ้นของโรงงานอุตสาหกรรมในไทยโดยเฉพาะโรงงานรีไซเคิลที่ไม่ได้มาตรฐาน ส่งผลให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรงขึ้น ประเทศไทยอาจกลายเป็นเป้าหมายของการทิ้งขยะอุตสาหกรรมจากโรงงานเหล่านี้ ซึ่งกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนไทยในระยะยาว
และจะส่งผลกระทบต่อเป้าหมายการรักษาอุณหภูมิโลก หากสหรัฐอเมริกาเพิ่มการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลและลดการสนับสนุนพลังงานสีเขียว จะทำให้โลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นอีก 15% การรักษาอุณหภูมิโลกให้คงที่ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียสตามเป้าหมายของข้อตกลงปารีสจึงแทบเป็นไปไม่ได้ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ตามมาคือภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้น เช่น คลื่นความร้อน น้ำท่วม ดินโคลนถล่ม และพายุที่มีความถี่และความรุนแรงเพิ่มขึ้น รวมถึงการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกซึ่งส่งผลให้น้ำทะเลเพิ่มระดับและเป็นกรดมากขึ้น การกัดเซาะชายฝั่งทวีความรุนแรง หมู่เกาะบางแห่งอาจจมหายไปภายในปี 2050
นโยบาย "America First" ของทรัมป์ แม้จะส่งเสริมเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาในระยะสั้น แต่กลับก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโลกในระยะยาว การลดบทบาทของสหรัฐในความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม และการสนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล ทำให้การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกยากยิ่งขึ้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่เพียงกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนาและประเทศกลุ่มเปราะบาง แต่ยังส่งผลถึงอนาคตของมนุษยชาติและระบบนิเวศทั่วโลก หากไม่มีการดำเนินการแก้ไข โลกอาจเผชิญกับภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ที่มาข้อมูล : TNN
ที่มารูปภาพ : Sonthi Kotchawat