เร่งหาสาเหตุ “บุรีรัมย์แผ่นดินไหว” เกิดขึ้นได้อย่างไร แม้อยู่นอกเขตรอยเลื่อน

เร่งหาสาเหตุ “บุรีรัมย์แผ่นดินไหว” เกิดขึ้นได้อย่างไร แม้อยู่นอกเขตรอยเลื่อน

สรุปข่าว

ดร.วีระชาติ วิเวกวิน ผู้อำนวยการส่วนรอยเลื่อนมีพลังและแผ่นดินไหว กองธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรธรณี  นำเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ องค์การบริหารส่วนตำบลโคกล่าม  อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์   เพื่อไปติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดคลื่นสั่นสะเทือนพื้นดิน หลังกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว  ตรวจพบการเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ขนาดตั้งแต่ 1.7 – 3.0 ที่ระดับความลึกประมาณ 1 กิโลเมตร  ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ถึง 5 ครั้ง ทั้งที่อยู่นอกเขตรอยเลื่อน   เพื่อเร่งหาสาเหตุที่ชัดเจนในการเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้ เพราะถึงแม้จะไม่ได้เกิดผลกระทบกับอาคารบ้านเรือนในพื้นที่  แต่ก็สร้างความกังวลใจให้กับชาวบ้าน  เพราะที่ผ่านบริเวณนี้ไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวขึ้นมาก่อนเลย  


ดร.วีระชาติ  บอกว่า  สาเหตุที่ต้องนำเครื่องวัดคลื่นสั่นสะเทือนพื้นดินมาติดตั้งที่ อบต.โคกล่าม เพราะเป็นจุดที่อยู่ใกล้จุดศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามากที่สุด  แม้การเกิดแผ่นดินไหวจะมีขนาดเบาและเล็กมาก  เทียบได้กับแรงสั่นสะเทือนของรถบรรทุกที่วิ่งผ่าน  และไม่ได้สร้างความเสียหายให้ บ้านเรือนหรือสิ่งก่อสร้างหลักเลย   แต่ก็อยากทราบว่าในพื้นที่จะมีความเสี่ยงกับการเกิดแผ่นดินไหวมากน้อยแค่ไหน  ประกอบกับจังหวัดบุรีรัมย์ไม่มีรอยเลื่อนที่มีพลังพาดผ่าน   จึงเกิดความสงสัยว่าในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ และอีกหลายจังหวัดในภาคอีสาน ซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัยจากแผ่นดินไหว  เกิดแผ่นดินไหวขึ้นได้อย่างไร   


ดร.วีระชาติ  บอกอีกว่า สำหรับการตรวจสอบ ได้นำเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์  ที่เรียกว่า เครื่องวัดคลื่นสั่นสะเทือนพื้นดิน มาติดตั้งในพื้นที่ เพื่อวัดคลื่นสั่นสะเทือนว่าจะยังมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวขึ้นในพื้นที่อีกหรือไม่  และถ้าพบว่ามีแล้วความรุนแรงจะมีขนาดไหน   โดยเครื่องวัดคลื่นสั่นสะเทือนพื้นดินที่นำมาติดตั้ง นอกจากจะใช้เครื่องของกรมทรัพยากรธรณีแล้ว  ก็ยังมีเครื่องจาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และของกรมอุตุนิยมวิทยา รวมทั้งหมด  14 เครื่อง  ซึ่งจะนำไปติดตั้งกระจายตามจุดต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อให้การวัดค่าตำแหน่งในการเกิดแผ่นดินไหวละเอียดและแม่นยำมากที่สุด จากนั้นจะนำข้อมูลที่ได้ ไปทำการวิเคราะห์แปรความหมายทางวิทยาศาสตร์ โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน และจะชี้แจงให้ประชาชนในพื้นที่ได้ทราบข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน   เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก และจะสื่อสารกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ว่าจะต้องดำเนินการรับมืออย่างไร ต่อไป


ภาพจากกรมทรัพยากรธรณี 

ที่มาข้อมูล : -

ที่มารูปภาพ :

แท็กบทความ

บุรีรัมย์แผ่นดินไหว
สาเหตุบุรีรัมย์แผ่นดินไหว
บุรีรัมย์
ไทยแผ่นดินไหว
ลำปลายมาศ
กรมอุตุนิยมวิทยา