

สรุปข่าว
จากข้อมูลที่มีการเผยแพร่ลงในนิตยสาร Science เมื่อวันที่ 18 พ.ค.66 พบว่า 53% ของทะเลสาบทั่วโลก มีระดับที่เหือดแห้งลง ระหว่างปี 1992-2020 โดยปริมาณน้ำที่หายไปเทียบเท่ากับทะเลสาบมี๊ด (Lake Mead) ซึ่งเป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ตั้งอยู่ในรัฐเนวาดา ที่มีปริมาตร 34 ลูกบาศก์กิโลเมตร ถึง 17 แห่ง นั่นหมายถึงปริมาตรน้ำที่หายไปมีมากถึง 578 ลูกบาศก์กิโลเมตร สะท้อนให้เห็นว่าโลกกำลังเผชิญกับภัยแล้ง และความแห้งแล้งเป็นหลักฐานสำคัญที่เกิดขึ้นในทั้งภูมิภาคที่แห้งแล้งและชุ่มชื้น
ผู้ศึกษาได้ทำการวิจัยและวิเคราะห์จากภาพถ่ายดาวเทียมตลอดระยะเวลา 30 ปี กว่า 250,000 ภาพ จากทะเลสาบขนาดใหญ่ 1,972 แห่งทั่วโลก ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนน้ำมกว่า 95% ของปริมาณน้ำจืดของโลกใบนี้ โดยทะเลสาบหลายแห่งทั่วสหรัฐฯ ประสบกับระดับน้ำที่ลดต่ำลงอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เป็นผลจากภาวะแล้งจัดที่ปกคลุมไปทั่วภูมิภาค
แม้แต่ทะเลสาบมี๊ดที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ก็เผชิญกับระดับน้ำต่ำที่สุดในช่วงฤดูร้อนปี 2022 และมีความเป็นไปได้ที่จะลงไปอยู่ที่ระดับ dead pool level ในช่วงปลายปีนี้ ขณะที่ทะเลสาบเกรทซอล์ท (Great Salt Lake) ก็เผชิญกับระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อไม่กี่เดือนก่อน โดยปริมาตรน้ำหายไปถึง 73%
การสูญเสียปริมาตรน้ำมหาศาลในทะเลสาบทั่วโลก ในระยะเวลาแค่ 30 ปีนี้ ถือว่าเป็นข่าวร้ายอย่างมาก เพราะทะเลสาบน้ำจืดเหล่านี้ มีหน้าที่ในการกักเก็บน้ำจืดไว้ถึงร้อยละ 87 ของโลก ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภค และการทำเกษตรของประชากรหลายล้านคน ไม่เพียงแต่ผลกระทบด้านน้ำในการอุปโภค-บริโภคเท่านั้น แต่ในทางอ้อมเมื่อระดับน้ำในทะเลสาบลดลง และอุณหภูมิผิวน้ำเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้การดูดกลืนคาร์บอนไดออกไซด์ก็ลดน้อยลงไปด้วย ซึ่งนั่นก็จะทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโลกสูงขึ้น อีกทั้งอาจกระทบต่อเรื่องการผลิตกระแสไฟฟ้าอีกด้วย
____
ติดตามข่าวสภาพอากาศ และเช็กจุดฝนตก น้ำท่วม ถนนรถติด ผ่าน TNN Earth
Website : https://bit.ly/3MXvq5I
Youtube : https://bit.ly/3MZUVmK
Facebook : https://bit.ly/3bxVMy0
Line : https://lin.ee/rPHmFpD
TikTok : https://bit.ly/3naJL4p
ที่มาข้อมูล : -