เมื่อมังกรเปิด “ถนนจรวด” พร้อมมาตรการสนับสนุนเพียบ (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อมังกรเปิด “ถนนจรวด” พร้อมมาตรการสนับสนุนเพียบ (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

สรุปข่าว

เมื่อเดือนก่อน เพื่อนสื่อมวลชนของผมส่งข่าวเกี่ยวกับ “ถนนจรวด” มาให้ผม และแสดงความสนใจอยากให้ผมหาเวลาจัดคณะผู้ประกอบการไทยที่สนใจไปเยี่ยมชมและสัมผัสความรุดหน้าของถนนแห่งนี้กันในอนาคต 


ผมอ่านดูแล้วก็รู้สึกตื่นเต้นกับโครงการนี้ไปด้วย แต่เนื่องจากผมยังไม่มีคิวไปเยือนปักกิ่งในช่วงนี้ ผมก็เลยขอให้ทีมงานหอการค้าไทยในจีนแวะไปส่องและรวบรวมข้อมูล “ถนนจรวด” แห่งนี้เพื่อนำข้อมูลดีที่สดใหม่มาแชร์กับท่านผู้อ่านกันในวันนี้ครับ ... 


การบินและอวกาศนับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลจีนในยุคหลังให้ความสำคัญอย่างมาก ทั้งนี้ สัญญาณเชิงบวกของอุตสาหกรรมอวกาศเชิงพาณิชย์ของจีนเริ่มก่อตัวในปี 2015 เมื่อรัฐบาลจีนได้ออกมาตรการสนับสนุนส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนในการก่อสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศ


ต่อมา รัฐบาลจีนก็เริ่มกำหนดเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวเพื่อการแข่งขันด้านเทคโนโลยีระหว่างประเทศและเป็นพื้นฐานของนวัตกรรมแห่งโลกอนาคต โดยปรากฏเป็นส่วนหนึ่งในนโยบาย Made in China 2025 และแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 13 และ 14


ศักยภาพเชิงพาณิชย์ของอุตสาหกรรมดังกล่าวทำให้เราเห็นจีนส่งดาวเทียมขึ้นสู่ห้วงอวกาศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2023 จีนส่งดาวเทียวเข้าสู่วงโคจรโลกถึง 270 ดวง และในจำนวนนี้ ราว 65% เป็นดาวเทียมเชิงพาณิชย์

ขณะเดียวกัน ความเอาจริงเอาจังของจีนยังปรากฎผ่านการถูกหยิบยกเรื่องนี้เป็นประเด็นหลักในหลายเวทีงานนิทรรศการและการประชุมสำคัญของจีนในระยะหลังจวบจนปัจจุบัน 


ในการประชุมคณะทำงานกลางด้านเศรษฐกิจของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อเดือนธันวาคม 2023 ที่ประชุมได้เน้นย้ําถึงความสําคัญใน “การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์” ว่าเป็นอุตสาหกรรมเกิดใหม่เชิงกลยุทธ์ที่เป็นส่วนหนึ่งของ “กำลังการผลิตคุณภาพใหม่” (New-Quality Productive Forces)


หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจีนยังแสดง “บทบาทนำ” ในการเป็นเจ้าภาพหลักเชิญผู้เชี่ยวชาญในวงการ ทั้งภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมประชุมหารือในงาน “จงกวนชุนฟอรั่ม 2024” (Zhongguanchun Forum 2024) ที่มาพร้อมกับงานนิทรรศการ “Business Aerospace” เมื่อปลายเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ณ กรุงปักกิ่ง ที่สะท้อนถึงแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศเชิงพาณิชย์ของภาคเอกชนที่ชัดเจน 


โดยในงานสัมมนาดังกล่าว หลายบริษัทได้นำเสนอแผนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกันอย่างคึกคัก ยกตัวอย่างเช่น Landspace ประกาศจะส่งมอบจรวดรุ่นใหม่ “SQ-3” ขึ้นสู่ห้วงอวกาศจำนวน 4 ครั้งในปีนี้ และอีก 9 ครั้งในปี 2025 


จรวดรุ่นดังกล่าวเป็นเจนใหม่ของรุ่น “ZQ-2” ซึ่งเป็นจรวดขนส่งก๊าซออกซิเจนเหลวและก๊าซมีเทนเหลวลำแรกของโลกที่ประสบความสำเร็จในการบรรทุกดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรโลกเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2023 ขณะเดียวกัน จรวดรุ่นนี้ยังเป็นจรวจที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตและประหยัดทรัพยากรของโลกได้เป็นอันมาก


นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังได้เชิญผู้เชี่ยวชาญของภาครัฐและเอกชนมาร่วมกัน “ระดมสมอง” และจัดทำ “พิมพ์เขียว” ของการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ โดยส่วนหนึ่งของพิมพ์เขียวระบุว่า ถนนจรวดถูกออกแบบให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องอย่างพร้อมสรรพ อาทิ ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ศูนย์การผลิตอัจฉริยะระดับไฮเอนด์ ห้องโถงนิทรรศการเชิงโต้ตอบด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และอื่นๆ 


สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญของระบบนิเวศที่จะช่วยดึงดูดโครงการลงทุนคุณภาพสูงจากห่วงโซ่อุตสาหกรรมอวกาศเชิงพาณิชย์ และส่งเสริมระบบนิเวศการทํางานร่วมกันด้านนวัตกรรมอบย่างครอบคลุม อันจะนำไปสู่การ

เปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจดิจิตัลและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอวกาศในชีวิตประจำวัน


จึงไม่น่าแปลกใจที่เราเห็นจีนส่งดาวเทียมถึง 270 ดวงขึ้นสู่อวกาศในปี 2023 ในจำนวนนี้ ราว 65% เป็นดาวเทียมเชิงพาณิชย์ 


ผู้เชี่ยวชาญของคนในวงการต่างคาดการณ์ว่า การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ของจีนในปี 2024 จะเติบโตในอัตราเร่ง โดยจีนคาดว่าจะมีดาวเทียมเชิงพาณิชย์มากกว่า 1,200 ดวงในวงโคจรภายใน 5 ปี


และเมื่อกลางปี 2024 รัฐบาลจีนก็แสดงให้เห็นถึง “ความเป็นรูปธรรม” ของการดำเนินนโยบาย “การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์” พร้อมสร้างความตื่นตะลึงให้แก่ผู้คนในวงการดังกล่าวด้วยการเปิดแถลงข่าวโครงการ “ถนนจรวดแห่งกรุงปักกิ่ง” (Beijing Rocket Street) 


ถนนจรวดตั้งอยู่ในพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีปักกิ่ง (Beijing Economic-Technological Development Area) ภายใต้การกำกับดูแลของ “ปักกิ่งอีทาวน์” (Beijing E-Town) 


แต่ก่อนจะไปคุยเรื่องถนนจรวดในรายละเอียด ผมขอแวะไปพูดคุยเกี่ยวกับ “ปักกิ่งอีทาวน์” ซะหน่อยเพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจถึงการใช้องค์กรภาครัฐในการผลักดันนโยบายสำคัญของจีน


ปักกิ่งอีทาวน์ก่อตั้งเมื่อปี 1994 หรือ 30 ปีที่แล้ว โดยเป็นองค์กรพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลเทศบาลกรุงปักกิ่ง ซึ่งถูกออกแบบเพื่อทำหน้าที่รองรับและส่งเสริมการผลิตที่มีเทคโนโลยีระดับสูงในกรุงปักกิ่ง


ต่อมา ปักกิ่งอีทาวน์ได้ลงทุนพัฒนา “สวนอุตสาหกรรม” ในชื่อ “พื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีปักกิ่ง” และตามมาด้วยการจัดตั้ง “E-Town Capital” และ “E-Town International Industrial Investment Management” ขึ้น


สององค์กรหลังนี้มีหน้าที่หลักในการจัดการการลงทุนที่มีแหล่งสินทรัพย์ข้ามพรมแดน การลงทุนของกองทุนเอกชน และการร่วมลงทุนทางอุตสาหกรรม รวมทั้งการจัดการการเงินด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการสร้างฐานนวัตกรรมและการเป็นผู้ประกอบการ 


โดยที่องค์กรเหล่านี้มีระบบและทีมงานบริหารจัดการการลงทุนที่เป็นมืออาชีพและยึดมั่นในแนวทางในการให้บริการการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ช่วยสร้างเวทีการลงทุนที่เสริมพลังอุตสาหกรรมบนพื้นฐานด้านการตลาดและการเพิ่มคุณค่าให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม


นั่นเท่ากับว่า การดำเนินงานขององค์กรเหล่านี้บูรณาการประสิทธิภาพทางการตลาดของสถาบันการลงทุนและองค์กรที่เกี่ยวข้องในระบบนิเวศได้อย่างลึกซึ้ง 


ด้วยการจัดการที่ยอดเยี่ยม เบ็ดเสร็จ และรอบด้านดังกล่าว ก็ทำให้องค์กรเหล่านี้กลายเป็น “เครื่องยนต์ทุน” ที่สนับสนุนการสร้างและพัฒนาเมืองและเขตพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่ จนได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางและได้รับรางวัลมากมาย อาทิ “สถาบันการลงทุนของรัฐที่ดีที่สุดของปี 2023” ส่งผลให้พื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจฯ ดังกล่าวมีบทบาทสำคัญสำหรับนวัตกรรมและการผลิตไฮเทคส่วนใหญ่ในปักกิ่งในปัจจุบัน


ผมขอพาท่านผู้อ่านไปเจาะลึกเกี่ยวกับ “ถนนจรวด” ต่อในตอนหน้าครับ ...




ภาพจาก AFP (แฟ้มภาพ)

ที่มาข้อมูล : -

ที่มารูปภาพ :

แท็กบทความ