

สรุปข่าว
Gold Bullish | Gold Bearish |
ความต้องการทองคำในฐานะสินทรัพย์ป้องกันเงินเฟ้อ | ธนาคารกลางสหรัฐอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนมิ.ย. และเดือนก.ค. |
สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนที่รุนแรงมากขึ้น | การเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครนที่มีความคืบหน้ามากขึ้น |
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน | การกระจายวัคซีนโควิด-19 |
ดัชนี CPI พุ่งสูงสุดครั้งใหม่ในรอบ 40 ปี หนุนให้เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ราคาทอง Spot ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาแม้ว่าจะเคลื่อนไหวทรงตัว แต่อย่างไรก็ตามในช่วงปลายสัปดาห์ราคาทองคำปรับตัวขึ้นแรง หลังจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) หรือ เงินเฟ้อ พุ่งขึ้น 8.6% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดครั้งใหม่ในรอบ 40 ปี ส่งผลต่อความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ ทำให้กระตุ้นแรงเทขายอย่างหนักในตลาดหุ้นสหรัฐ และหนุนการเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย
ทั้งนี้ตัวเลข เงินเฟ้อ ที่พุ่งขึ้นสูงนั้นอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากขึ้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และจะส่งผลให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย ทั้งนี้เงินเฟ้อได้พุ่งสูงในระดับสูงสุดครั้งใหม่อีกครั้ง ทลายความเห็นก่อนหน้านี้ที่เคยมีความเห็นกันว่ามาเงินเฟ้อนั้นได้อยู่ในระดับสูงสุดแล้ว ซึ่งนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐก็ได้ถูกการโจมตีอย่างหนักจากสภาคองเกรสเกี่ยวกับความผิดพลาดในการคาดการณ์เงินเฟ้อ ที่ส่งผลต่อการรับมือปัญหาเศรษฐกิจ จากที่ก่อนหน้านี้นางเยลเลนได้คาดการณ์เมื่อเดือนธ.ค. 2564 ว่าการพุ่งขึ้นอัตราเงินเฟ้อจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว และแรงกดดันของเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะบรรเทาลงในปี 2565 ซึ่งขณะนี้เธอก็ต้องยอมรับความจริง แต่ก็ยังเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสหรัฐไม่ถดถอยแน่นอน
ปัจจัยที่ส่งผลให้เงินเฟ้อในสหรัฐพุ่งขึ้นสูงต่อเนื่อง
ภาวะ เงินเฟ้อ ที่รุนแรงนั้นย่อมเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อผู้บริโภคเป็นอย่างมาก อัตราเงินเฟ้อเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ แรงกดดันด้านอุปทานหรืออุปสงค์ของเศรษฐกิจ นโยบายการเงิน แม้แต่ความคาดหวังของผู้บริโภค ซึ่งเงินเฟ้อเกิดจากความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานของเงิน ขณะที่ผ่านมาเกิดภาวะเงินเฟ้อที่ส่อแววเพิ่มขึ้นอย่างมาก แม้ว่ายังคงมีหลายความคิดเห็นที่แตกต่างกันไปเกี่ยวกับสาเหตุที่แท้จริงของภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น แต่เราก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่นั้นเกิดจากปัญหาการขาดแคลนผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากปัญหาซัพพลายเชนทั่วโลก ซึ่งเป็นผลกระทบจากการเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งนับว่าเป็นการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ สร้างมูลค่าความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมาก ขณะที่ชาวอเมริกาเริ่มมีอำนาจการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นหลังธุรกิจต่าง ๆ สามารถกลับมาเปิดใหม่ ปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่เกิดจากโควิด-19 ทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นไปอีก ประกอบเฟดคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ กระตุ้นให้ผู้คนและธุรกิจกู้ยืมเงินโดยไม่ต้องรีบจ่ายคืนเป็นเงินก้อนใหญ่
ปัจจัยอื่นที่อาจส่งผลเช่นกันคือการเติบโตของค่าจ้างแรงงานในสหรัฐ รวมถึงการรุกรานยูเครนจากรัสเซียในปีนี้ที่เป็นแรงช่วยเสริมเงินเฟ้อจากเดิมที่สูงขึ้นอยู่แล้ว ส่งผลให้ก๊าซธรรมชาติสูงขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรปทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นมาก ขณะที่ต้นทุนก๊าซในสหรัฐก็เติบโตต่อเนื่องเช่นกันทะยานสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ยังส่งผลให้ปิโตรเคมี น้ำมัน และสินค้าอื่นๆ ที่พึ่งพาน้ำมันดิบมีราคาสูงขึ้นเช่นกัน รวมถึงราคาข้าวสาลี ข้าวโพด ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ราคาอาหารและไบโอดีเซลที่เพิ่มขึ้น จึงส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อหลายประเทศทั่วโลก
แนวโน้ม ราคาทองคำ ระยะสั้นคาดปรับตัวขึ้น อย่างไรก็ตามให้ระวังแรงเทขายทำกำไร โดยตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด สัปดาห์นี้สหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนพ.ค. ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.8% เมื่อเทียบรายเดือน จากเพิ่มขึ้น 0.5% เมื่อเทียบรายเดือน หรือเพิ่มขึ้น 10.9% เมื่อเทียบรายปี จากเพิ่มขึ้น 11.0% เมื่อเทียบรายปี นอกจากนี้ติดตามการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ในวันที่ 14-15 มิ.ย.นี้ คาดว่าเฟดจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% มาสู่ระดับ 1.25%-1.50%
ราคาทองคำ มีแนวรับอยู่ที่ 1,850 ดอลลาร์ และ 1,840 ดอลลาร์ ขณะที่มีแนวต้าน 1,890 ดอลลาร์ และ 1,900 ดอลลาร์ ส่วนราคาทองแท่งในประเทศมีแนวรับ 30,500 บาท และ 30,400 บาท ขณะที่มีแนวต้านที่ 30,900 บาท และ 31,000 บาท
ภาพประกอบจาก : พีอาร์ ฮั่วเซ่งเฮง
ภาพประกอบจาก : พีอาร์ ฮั่วเซ่งเฮง
ข้อมูลจาก: ธนรัชต์ พสวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มฮั่วเซ่งเฮง
ภาพประกอบ : AFP , ฮั่วเซ่งเฮง
ที่มาข้อมูล : -