

สรุปข่าว
ฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือ CGSI ระบุในบทวิเคราะห์ ว่า เมื่อวันที่ 29 พ.ย.67 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานภาวะสินเชื่อไตรมาส 3/67 พบว่า สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค รวมถึงสินเชื่อธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกมีคุณภาพลดลงอีก
ทั้งนี้ สินเชื่อรายย่อยทุกกลุ่มมีอัตราส่วน NPL หรือหนี้ไมก่อให้เกิดรายได้เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมี NPL เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ทรงตัวเทียบไตรมาสก่อน( qoq) ที่ ร้อยละ 89.6 ในไตรมาส 2/67 นอกจากนี้ ยอดตัดหนี้สูญโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 27 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ( yoy) แต่ลดลง ร้อยละ 10 qoq ส่วนหนี้ปรับโครงสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 yoy และร้อยละ 18 qoq สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการเคลียร์งบดุลของธนาคาร
ด้านกลุ่มสินเชื่อรายย่อยมีสัดส่วนสินเชื่อ stage 2 หรือ สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (underperforming) เพิ่มสูงขึ้นจึงทำให้มาตรฐานการให้สินเชื่อของธนาคารเข้มงวดขึ้น ตามรายงานในแบบสำรวจภาวะและแนวโน้มสินเชื่อของธปท.
ฝ่ายวิเคราะห์ CGSI เชื่อว่า ความต้องการสินเชื่อรายย่อยในไตรมาส 4/67 จะมาจากกลุ่มสินเชื่อรถ เนื่องจากมีการจัดงาน Motor Show ในเดือนธ.ค.67 และสินเชื่อบัตรเครดิตเพราะเป็นไฮ-ซีซั่นของการใช้จ่ายในประเทศ ขณะเดียวกัน ผลสำรวจชี้ว่าความต้องการสินเชื่อธุรกิจจะยังมาจากสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน จึงเชื่อว่ายอดสินเชื่อรวมในไตรมาส 4/67 จะเติบโตเล็กน้อย qoq แต่สินเชื่อทั้งปี 67 น่าจะยังติดลบ หลังยอดสินเชื่อรวมงวด 9 เดือนของปีนี้ลดลง
และคาดว่า ยอดสินเชื่อรวมของกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะเติบโตร้อยละ 2.6-3.0 ในปี 68-69 เพราะธนาคารมีเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวด และ GDP ไทยยังขยายตัวต่ำ โดยคาดว่าจะโตต่ำกว่าร้อยละ 3 ในปี 68 นอกจากนี้ ประมาณการว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) จะลดลงจาก ร้อยละ 3.51 ในปี 67 เป็นร้อยละ 3.45 และร้อยละ 3.41 ในปี 68-69 ตามลำดับ ภายใต้สมมติฐานที่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในช่วงครึ่งปีแรก 68 อีกทั้งเชื่อว่ารายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยน่าจะยังเติบโตอ่อนตัวในอัตราร้อยละ 3.9 ในปี 68-69 จะส่งผลให้กำไรก่อนตั้งสำรอง (PPOP) ในช่วงเดียวกันเติบโตเพียงร้อยละ 1.15 - 1.83
อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราการสำรองหนี้สูญจะลดลงเหลือ 144bp ในปี 68 และ 134bp ในปี 69 เทียบจาก 152 bp ในปี 67 ดังนั้น จึงทำประมาณการ ROE ของกลุ่มธนาคารในปี 68-69 อยู่ที่ร้อยละ 8.9-9.0 เทียบจากร้อยละ 10.1-12.3 ในปี 58 - 61
ในมุมมองการลงทุน CGSI มองว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยยังขาดปัจจัยหนุนที่แข็งแกร่ง จึงยังแนะนำให้คงน้ำหนักการลงทุน (Neutral) กลุ่มนี้ เนื่องจากอัตราการเติบโตของ PPOP และ ROE ในปี 68-69 มีแนวโน้มชะลอตัว และ ฝ่ายวิเคราะห์ฯ ได้ถอด KBANK ออกจากหุ้น Top pick หลังราคาหุ้น outperform ดัชนี SET ถึงร้อยละ 10.3 เทียบต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD ) และ SETBANK ร้อยละ 8.5 YTD (1 ม.ค.-22 พ.ย.67)
ขณะเดียวกันได้เพิ่ม SCB เข้ามาเป็นหุ้น Top pick เพราะคาดว่าธนาคารจะมี EPS หรือ กำไรต่อหุ้นจะเติบโตร้อยละ 7 และมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงที่ร้อยละ 9.6-10.3 ในปี 68-69 โดยกลุ่มธนาคารจะมี downside risk หรือความเสี่ยงจะปรับลดลง หาก NPL เพิ่มขึ้น และมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่วน upside risk หรือความเสี่ยงที่จะปรับขึ้น จะมาจากการที่นักท่องเที่ยวเดินทางมาไทยมากขึ้น, ความตึงเครียดทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ลดลงและรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ที่มาข้อมูล : -