
กสทช. จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล เพื่อนำข้อมูลจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งผู้ประกอบการและประชาชนไปประเมินผลกระทบจากการเปิดประมูลนำคลื่น 3500 เมกะเฮิร์ตซ์ ซึ่งปัจจุบันใช้รองรับการรับชมทีวีผ่านดาวเทียมระบบ C Band ไปใช้ในกิจการโทรคมนาคม อันจะส่งผลให้เกิดจอดำครั้งใหญ่และอาจเป็นจุดล่มสลายของอุตสาหกรรมดิจิทัลทีวี
นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) นำผู้บริหารระดับสูงของดิจิทัลทีวี เข้าร่วมแสดงจุดยืนรักษาคลื่น 3500 เมกะเฮิร์ตซ์ โดยยืนยันว่า ความล้มเหลวจากการเปลี่ยนผ่านการรับชมโทรทัศน์สู่ระบบภาคพื้นดิน หรือ DVBT ของ กสทช. ทำให้ระบบการรับชมทีวีของไทยในปัจจุบัน รับชมผ่านระบบจานดาวเทียมถึงร้อยละ 70 ซึ่งในจำนวนนี้รับชมในระบบ C Band ที่ใช้คลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิร์ตซ์ เป็นส่วนหนึ่งในการรับส่งสัญญานถึงร้อยละ 60
กสทช. จึงควรดูแลรักษาความถี่นี้ เพื่อผู้ชมทีวีส่วนใหญ่ของประเทศต่อไปให้นานที่สุดจนสิ้นสุดอายุของดาวเทียมไทยคม หรืออย่างน้อยจนสิ้นสุดอายุใบอนุญาต เพื่อทดแทนการรับชมทีวีภาคพื้นดินที่ กสทช.ไม่สามารถขยายจำนวนฐานผู้ชมได้ตามคำชี้ชวน และคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมยังมีเพียงพอต่อการใช้งาน ไม่มีเหตุจำเป็นต้องเร่งประมูลพร้อมกันในคราวเดียว
จากการศึกษาแผนงานร่วมกันของผู้ประกอบการโทรคมนาคมชี้ชัดว่า กระบวนการการเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านหากต้องใช้คลื่น 3500 เมกะเฮิร์ตซ์ ใช้เวลาประมาณ 2 ปี จึงเป็นเหตุผลสมควรที่สามารถเลื่อนแผนการประมูลคลื่น 3500 เมกะเฮิร์ตซ์ออกไปก่อน เพื่อให้ไม่กระทบต่อผู้ชมก่อนสิ้นสุดอายุใบอนุญาตของดิจิทัลทีวีปี 2572
กสทช. ควรเร่งวางภูมิทัศน์ของระบบทีวีแห่งชาติ หลังจากสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2572 รวมถึงการออกหลักเกณฑ์การประมูลครั้งต่อไปให้แล้วเสร็จ ภายในกลางปี 2568 เพื่อเห็นภาพรวมในอนาคตของอุตสาหกรรม ซึ่งมีความสำคัญต่อการคงอยู่ของโทรทัศน์แห่งชาติที่ประชาชนสามารถเข้าถึงอย่างสะดวกโดยไม่มีค่าใช้จ่ายอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
สำหรับใบอนุญาตของโทรทัศน์ระบบดิจิทัลจะสิ้นสุดอายุลงใน เดือนเมษายน 2572 ท่ามกลางความผันผวนของเทคโนโลยีการรับชม และระหว่างเฝ้ารอความชัดเจนแผนของแม่บทในการดำเนินการโทรทัศน์แห่งชาติ หลังปี 2572 สมาคมฯ และผู้ประกอบการได้เคยยื่นหนังสือถึงประธาน กสทช. เพื่อชี้ให้เห็นความสำคัญของคลื่น 3500 เมกะเฮิร์ตซ์ ที่เป็นหัวใจหลักต่อการรับชมทีวีของคนไทยทั้งประเทศมาแล้ว วันนี้จึงพร้อมใจกันมาแสดงจุดยืนในการรักษาคลื่นความถี่นี้ไว้อีกครั้ง เพื่อไม่ให้ทีวีไทยถึงคราวล่มสลายก่อนกาล

สรุปข่าว
ที่มาข้อมูล : TNN
ที่มารูปภาพ : TNN / Freepik

ยศไกร รัตนบรรเทิง
เบน
บรรณาธิการออนไลน์