นายกฯเร่งทบทวน SMS เตือนภัยแผ่นดินไหว หลังแจ้งช้ากว่าชั่วโมง

จากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ซึ่งส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากในกรุงเทพฯ และปริมณฑลตื่นตระหนกต่อความล่าช้าในการได้รับ SMS เตือนภัยแผ่นดินไหว ล่าสุด วันที่ 31 มีนาคม นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมด่วนร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงดิจิทัลและภาคเอกชน เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาและทบทวน ระบบเตือนภัยแผ่นดินไหว ของประเทศ

ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี, นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.), นายสรณ บุญใบชัยพฤกษ์ จาก กสทช. รวมถึงผู้บริหารจาก AIS, NT และ True


นายกฯเร่งทบทวน SMS เตือนภัยแผ่นดินไหว หลังแจ้งช้ากว่าชั่วโมง

สรุปข่าว

นายกรัฐมนตรีแพทองธาร เรียกประชุมด่วนหน่วยงานรัฐ-เอกชน จี้แก้ระบบ SMS เตือนภัยแผ่นดินไหว หลังประชาชนได้รับข้อความล่าช้ากว่า 1 ชั่วโมง พร้อมสั่ง ปภ.-ค่ายมือถือ ปรับระบบให้แจ้งเตือนเร็วขึ้น และเสริมช่องทางสื่อสารเชิงรุก

นายประเสริฐรายงานว่า หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประชุมหาสาเหตุความล่าช้าในการส่ง SMS แจ้งเตือนภัย ต่อประชาชน ซึ่งพบว่าขั้นตอนการประมวลผลข้อมูลและส่งข้อความยังล่าช้า โดยเฉพาะในช่วงสรุปเนื้อหาและการประสานกับเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ

ที่ประชุมได้ข้อสรุปใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

  • ปรับปรุงระบบปฏิบัติการของ ปภ. ให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 เพื่อให้สามารถส่งการเตือนภัยได้อย่างทันท่วงที
  • กำหนด ไทม์ไลน์แจ้งเตือน ให้ชัดเจนว่าหลังเกิดเหตุจะใช้เวลากี่นาทีในการแจ้งเตือน
  • ทบทวนวิธีการส่งข้อความในกรณีที่ระบบ cell broadcast ยังไม่สามารถใช้งานได้ โดยใช้ระบบ SMS สำรองให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

นายกรัฐมนตรีตั้งข้อสังเกตว่าในวันเกิดเหตุ ปภ. ได้รับข้อมูลยืนยันจากกรมอุตุนิยมวิทยาและหน่วยงานต่างประเทศตั้งแต่เวลา 13.36 น. แต่มีการส่ง SMS ครั้งแรกในเวลา 14.40 น. ซึ่งถือว่าช้ากว่าที่ควร ด้านอธิบดี ปภ. ชี้แจงว่าขั้นตอนการวิเคราะห์ข้อมูลและตรวจสอบความแม่นยำใช้เวลา และเมื่อได้ข้อยืนยันแล้วจึงเริ่มการส่งข้อความ


ทั้งนี้ ผู้บริหารเครือข่ายมือถือชี้แจงว่า การส่ง SMS เตือนภัยแผ่นดินไหว ไม่ใช่ระบบแจ้งเตือนหลัก และมีข้อจำกัดหลายด้าน เช่น ต้องทราบหมายเลขผู้ใช้งานในพื้นที่ก่อน และการส่งข้อความไม่สามารถระบุตำแหน่งแบบเรียลไทม์ได้

นายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ จาก AIS ระบุว่า ปัจจุบันสามารถส่ง SMS ได้ชั่วโมงละ 30 ล้านหมายเลข แต่การไล่เรียงส่งทีละเบอร์ยังใช้เวลา ขณะที่นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ จาก True ชี้ว่า ต้องใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงในการประมวลหมายเลขในพื้นที่เป้าหมาย โดยเฉพาะเมื่อคำสั่งแรกให้ส่งไปยังพื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี

นายกรัฐมนตรียอมรับว่า SMS ไม่ใช่ช่องทางหลักในการเตือนภัย แต่ถือเป็น “ช่องทางเชิงรุก” ที่ควรได้รับการพัฒนาให้รวดเร็วและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น พร้อมเสนอให้พิจารณาข้อความแจ้งเตือนแบบสั้น เช่น “ให้ออกจากอาคาร” หากตรวจพบแรงสั่นสะเทือนเบื้องต้น แม้ยังไม่ทราบรายละเอียดเชิงลึกก็ตาม

ที่มาข้อมูล : TNN

ที่มารูปภาพ : TNN

avatar

ยศไกร รัตนบรรเทิง
เบน

บรรณาธิการออนไลน์

แท็กบทความ

แผ่นดินไหว
SMS เตือนภัยแผ่นดินไหว
ระบบเตือนภัยแผ่นดินไหว
กสทช.
แจ้งเตือนภัย
ภัยพิบัติ