TNN เอเชียเผชิญอากาศร้อนจัด คนไทยเป็นฮีตสโตรกเสียชีวิต 30 ราย

TNN

World

เอเชียเผชิญอากาศร้อนจัด คนไทยเป็นฮีตสโตรกเสียชีวิต 30 ราย

เอเชียเผชิญอากาศร้อนจัด คนไทยเป็นฮีตสโตรกเสียชีวิต 30 ราย

เอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลายประเทศเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด ต้องปิดโรงเรียนชั่วคราว

ผู้คนหลายล้านคนทั่วเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังคงเผชิญกับสภาพอากาศร้อนอบอ้าว ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนจัดเมื่อวานนี้ (26 เมษายน) โดยอากาศร้อนจัด ทำให้โรงเรียนหลายแห่งทั่วบังกลาเทศและฟิลิปปินส์ ต้องงดการเรียนการสอนในห้องเรียนชั่วคราวในสัปดาห์นี้ และกระตุ้นให้รัฐบาลประกาศคำเตือนเกี่ยวกับอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง 


เฉพาะในประเทศไทย วันพฤหัสบดีที่ผ่านมา รัฐบาลประกาศคำเตือนครั้งใหม่หลังดัชนีสภาพอากาศร้อนในกรุงเทพฯ พุ่งผ่าน 52 องศาเซลเซียส รัฐบาลไทย ระบุว่า ฮีตสโตรกได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วอย่างน้อย 30 คนในปีนี้ 


การวิจัยทางวิทยาศาสตร์อย่างกว้างขวาง พบว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน เป็นสาเหตุให้เกิดคลื่นความร้อนยาวนานขึ้น, ถี่ขึ้นและรุนแรงมากขึ้นด้วย 


สหประชาชาติ หรือยูเอ็น แถลงในสัปดาห์นี้ว่า เอเชียเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากอันตรายที่เกิดจากสภาพอากาศในปี 2023 โดยน้ำท่วมและพายุถล่มเป็นสาเหตุหลักของการบาดเจ็บล้มตาย และความสูญเสียทางเศรษฐกิจ


ในฟิลิปปินส์ ชุมชนอายุร้อยปี ซึ่งจมอยู่ใต้น้ำจากการก่อสร้างเขื่อนทางภาคเหนือของประเทศในทศวรรษที่ 1970 ได้ปรากฏขึ้นอีกครั้งเมื่อระดับน้ำลดลง เนื่องจากภัยแล้ง ส่งผลกระทบต่อพื้นที่กว้างใหญ่ของประเทศ  


ในช่วงเดือนมีนาคม, เมษายนและพฤษภาคม ปกติแล้วถือเป็นช่วงที่ร้อนที่สุดและแห้งที่สุดในฟิลิปปินส์ แต่สภาพอากาศในปีนี้ กลับเลวร้ายลงจากปรากฏการณ์เอลนิโญ


ส่วนอุณหภูมิทั่วบังกลาเทศ สูงกว่า 42 องศาเซลเซียสในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งสภาพอากาศร้อนจัดกระตุ้นให้ชาวบังกลาเทศหลายพันคน ไปรวมตัวกันในมัสยิดประจำเมืองและทุ่งนาในชนบท เพื่อสวดมนต์บรรเทาสภาพอากาศร้อน ซึ่งเจ้าหน้าที่พยากรณ์อากาศคาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่องจนถึงสุดสัปดาห์ การเรียนในชั้นเรียนถูกยกเลิกทั่วประเทศ เนื่องจากอากาศร้อนจัด แต่นักเรียนบางคนก็ไม่สามารถทำการบ้านได้ เพราะอุณหภูมิที่สูงขึ้น 


นักเรียนหลายล้านคนได้รับคำแนะนำให้พักอยู่ที่บ้านในสัปดาห์นี้ ขณะที่ ประเทศในเอเชียใต้แห่งนี้ กำลังเผชิญกับคลื่นความร้อนที่เลวร้ายที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว 4-5 องศาเซลเซียส 


ทางการบังกลาเทศ คาดว่าจะกลับมาเปิดโรงเรียนอีกครั้งจากวันที่ 28 เมษายน ก่อนอุณหภูมิคาดว่าจะค่อย ๆ ลดลง 


ทั้งนี้ บังกลาเทศและประชาชน 171 ล้านคน อยู่ในด่านหน้าของวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งปกติแล้วมักได้รับความเสียหายจากพายุไซโคลนกำลังแรง และน้ำท่วมที่มีความถี่และความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น 


สภาพอากาศสุดขั้วครั้งล่าสุดกระตุ้นให้เกิดโรคท้องร่วงระบาดในภาคใต้ของประเทศ เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น และส่งผลให้แหล่งน้ำในท้องถิ่นมีความเค็มเพิ่มขึ้น



ส่วนในอินเดีย แม้ว่าจะเผชิญกับคลื่นความร้อน การเลือกตั้งที่ใช้เวลานานถึง 6 สัปดาห์ก็ยังดำเนินต่อไปเมื่อวานนี้ (26 เมษายน) โดยประชาชนหลายล้านคนเข้าแถวยาวนอกหน่วยเลือกตั้งในหลายพื้นที่ของประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ได้รับการคาดการณ์อย่างกว้างขวางว่าจะชนะเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 3 ซึ่งจะสิ้นสุดในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 


สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของอินเดีย แถลงในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาว่า คลื่นความร้อนรุนแรงจะยังคงเกิดขึ้นในหลายรัฐตลอดสุดสัปดาห์ 


ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งมากกว่า 968 คน เข้าร่วมในการเลือกตั้งของอินเดีย โดยการลงคะแนนรอบสุดท้ายจะเกิดขึ้นในวันที่ 1 มิถุนายน และผลการเลือกตั้งคาดว่าจะทราบในอีก 3 วันถัดไป 


—————

ภาพ: AFP/Getty Images

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง