TNN World-in-depth by วิศรุต หล่าสกุล: วุ่นนักรักหรือหลอก? ความสัมพันธ์เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น ณ ปัจจุบัน

TNN

World

World-in-depth by วิศรุต หล่าสกุล: วุ่นนักรักหรือหลอก? ความสัมพันธ์เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น ณ ปัจจุบัน

World-in-depth by วิศรุต หล่าสกุล: วุ่นนักรักหรือหลอก? ความสัมพันธ์เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น ณ ปัจจุบัน

ความสัมพันธ์เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น ที่เคย “เกลียดกันยันเงา” ไม่มีทางที่จะลงรอยกันได้ แต่ปัจจุบัน กำลัง “เบ่งบาน” เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?

หากใครสนใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จะพบปัญหาคาราคาซังระหว่าง “เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น” โดยเฉพาะในเรื่อง “ประวัติศาสตร์บาดแผล (Traumatized)” เมื่อครั้งเกาหลีใต้เป็นอาณานิคมญี่ปุ่น ที่โดนกดขี่สารพัด ใช้แรงงานหนัก เลือกปฏิบัติ ไปจนถึงประเด็น “Comfort Woman” 


ทำให้ถึงขนาดคาดการณ์ว่า ความสัมพันธ์นี้ เป็นเรื่องที่ทำให้ “เกลียดกันยันเงา” ไม่มีทางที่จะลงรอยกันได้


แต่ไม่นานมานี้ ความสัมพันธ์ของทั้งสองกลับกำลัง “เบ่งบาน” อย่างน่าประหลาด เห็นได้จาก สด ๆ ร้อน ๆ ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เดินทางเยือนเกาหลีใต้ เพื่อพบปะ ยุน ซ็อก ยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ และรับชม โคเฮย์ โอทานิ นักเบสบอลชื่อดังที่มาแข่งขันในโซล ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดวิสัย เพราะโดยปกติผู้นำของ 2 ชาตินี้มักไม่ไปเหยียบแผ่นดินกันและกัน


เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? ลองพิจารณาผ่าน 3 เงื่อนไขดังต่อไปนี้




--- มรดกฝ่ายขวา ---



อย่างที่ทราบกันดีว่า ยุน ซอก ยอล มาจากพรรคการเมืองที่เป็น “ฝ่ายขวา” [People Power Party] ซึ่งเป็นรอยทางมาตั้งแต่สมัย “อำนาจนิยม” ตั้งแต่ยุค 1960s และหากพิจารณาตามประวัติศาสตร์แล้ว ส่วนมาก นโยบายต่างประเทศของรอยทางนี้จะค่อนข้าง “สร้างความร่วมมือ” กับญี่ปุ่น ทั้งสิ้น


ตัองไม่ลืมว่า ตอนที่เกาหลีใต้ลงนาม “สนธิสัญญาความสัมพันธ์พื้นฐาน (Treaty on Basic Relations Between Japan and the Republic of Korea)” ในปี 1965 ก็เป็นสมัยอำนาจนิยม และการลงนามนี้ เกาหลีใต้จะได้ “เงินกู้และเงินให้เปล่า” จำนวนมหาศาล ลดอุปสรรคต่าง ๆ ทางการค้า พร้อมทั้งความร่วมมือด้าน “ความมั่นคง” เพราะหากได้รับการบุกจากฝั่งเหนือ ญี่ปุ่นจะเข้าช่วยเหลือทันที


จากสนธิสัญญานี้ ทำให้เกาหลีใต้ได้เงินทุนมาสนับสนุนนายทุนในประเทศ เกิดการจ้างงาน และได้ตลาดส่งออกระดับต้น ๆ ของเอเชีย ทำให้สามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว เรียกได้ว่า นี่เป็น “อานิสงส์” ที่ฝ่ายขวาได้รับจากญี่ปุ่นก็ว่าได้


ตรงนี้ จึงไม่แปลกใจ หากยุนจะทำการแก้ไขปัญหาเรื่องการจ่ายเงินชดเชยการบังคับใช้แรงงานของคนเกาหลี สมัยอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น ด้วยการที่รัฐบาลเกาหลีใต้ “ออกหน้ารับแทน” เป็นผู้ออกเงินด้วยตนเอง มากกว่าที่จะไปเรียกร้องเงินจำนวนนี้จากรัฐบาลญี่ปุ่น 




--- เปลี่ยนผ่านเจเนอเรชั่น ---



อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นเป็นเรื่องของ “การเปลี่ยนผ่านทางเจเนอเรชั่น” แน่นอน เกาหลีใต้เป็นประเทศที่กำลังเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” มีอัตราการเกิดที่ลดลง ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งส่วนใหญ่จึงเป็นผู้ที่ผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายจากอาณานิคมญี่ปุ่นอยู่วันยังค่ำ 


แต่อย่าลืมว่า ในระดับของการปกครองหรือการกำหนดนโยบาย ย่อมเป็นบุคคลที่อยู่ในเจเนอเรชั่นใหม่ ไม่ได้ผ่านประสบการณ์ดังกล่าวนั้น หากแต่อยู่ในประสบการณ์ที่เกาหลีใต้รับเงินญี่ปุ่นมาเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้พวกตนนั้นมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน 


ไม่ต้องไปนึกถึงบรรดานายทุน ที่แสวงหาผลกำไรเป็นที่ตั้ง การได้รับความร่วมมือจากญี่ปุ่นย่อมเป็นสิ่งที่สร้างข้อได้เปรียบอยู่แล้วไม่ว่าเขาผู้นั้นจะชอบหรือไม่ชอบญี่ปุ่นก็ตามที


หรือแม้แต่คนทั่วไป [ที่อาจจะเป็นชนชั้นปกครองในอนาคต] ก็ไม่ได้รู้สึกว่าญี่ปุ่นเป็นศัตรูคู่อาฆาตมากเสียเท่าไร ดังจะเห็นได้จากผลสำรวจของ The Economist จะพบว่าอัตราความรู้สึกในด้านบวกของคนเกาหลีที่มีต่อคนญี่ปุ่น กลับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ พร้อมทั้งความรู้สึกด้านลบที่ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ เช่นกัน


World-in-depth by วิศรุต หล่าสกุล: วุ่นนักรักหรือหลอก? ความสัมพันธ์เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น ณ ปัจจุบัน


ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจ ที่ซีรีย์ “Eye Love You” ที่มีพระเอกสัญชาติเกาหลี และนางเอกสัญชาติญี่ปุ่น จะเกิดขึ้นมาและออกอากาศได้ เพราะหากเป็นสมัยก่อน รัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศ ต้องได้รับการวิพากษ์อย่างสาดเสียเทเสียว่า “ไม่รักชาติ” เป็นแน่


World-in-depth by วิศรุต หล่าสกุล: วุ่นนักรักหรือหลอก? ความสัมพันธ์เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น ณ ปัจจุบัน

ภาพ: TBS



--- กลับมาที่ดุลแห่งอำนาจ ---




ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเป็นเรื่องพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ แต่ในโลกของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เรื่องที่เป็นพื้นฐานที่สุดนั่นคือ “ความมั่นคง (Security)”


แน่นอน จินตภาพด้านความมั่นคงของพรรคฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายในเกาหลีใต้ มีความแตกต่างกันอยู่ประการหนึ่ง 


หากเป็นพรรคฝ่ายซ้าย ความมั่นคงนี้เป็นเรื่องของ “การสร้างความปรองดอง (Reconciliation)” กับ “เกาหลีเหนือ” ด้วยเห็นว่าหากสามารถรวมประเทศให้เป็นหนึ่งได้อีกครั้ง นอกจากจะสร้างความแข็งแกร่งทางด้านจิตใจ จิตวิญญาณ และความร่วมแรงร่วมใจของ “เกาหลี” ได้ ความมั่นคงทางการทหารจากกันได้อาวุธนิวเคลียร์ ย่อมมีความสำคัญไม่แพ้กันกัน 


ดังที่เห็นได้จากมุน แจอิน ที่ดูจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมากตลอด 5 ปีที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี


แต่ฝ่ายขวาไม่ใช่แบบนั้น เพราะฝ่ายขวานั้น หัวติดตีนขาดอย่างไรก็ไม่มีทางรวมเข้ากับ “พวกคอมมิวนิสต์” จากทางเหนือได้ ดังนั้นการสร้างพันธมิตรจึงต้องมาจากบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างญี่ปุ่น แน่นอน เรื่องเศรษฐกิจสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ แต่ส่วนหนึ่งก็เพื่อคานอำนาจกับเกาหลีเหนือเอง


เมื่อมาถึงตรงนี้ จึงอาจที่จะพอคาดคะเนได้ว่า เพราะฝ่ายขวาครองอำนาจในเกาหลีใต้ ความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นจึงดูเหมือนจะ “ผลิบาน” อีกครั้ง



—————



บทความโดย: วิศรุต หล่าสกุล

ภาพ : Reuters


แหล่งอ้างอิง


  • หนังสือ Japan and Korea: The Political Dimension
  • หนังสือ Deconstructing Japan's Image of South Korea: Identity in Foreign Policy
  • บทความ South Korean-Japanese Relations since the 1965 Normalization Pacts
  • วิทยานิพนธ์ Evolution of political parties and the party system in South Korea
  • Economist  



ข่าวแนะนำ